บทความ
เรื่อง น้ำพระทัยหลั่งรินทั่วแผ่นดินไทย
ผู้เรียบเรียงบทความ พลตรี หญิง จารุวรรณ สงฆ์ประชา
โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายเป็นของมีคุณค่า และจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณคดี เป็นการแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทย ที่มีมาแต่อดีต ควรสงวนรักษาไว้ให้คงทนถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล
(พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๒๖ ธันวาคม ๒๕๐๔)
----------------------------------------------------------------------------------------------------
วันนี้ที่จดจำ ----------------------------------------------------------------------------------------------------
นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๙มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงวันนี้นับเป็นเวลา กว่า ๖๐ ปีแห่งรัชสมัย พระราชปณิธานแห่งพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจากกระแสพระราชดำรัสอันเป็นพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” กระแสพระราชดำรัสนี้ ยังก้องอยู่ในหัวใจชาวไทยทั้งชาติ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พสกนิกรชาวไทยต่างซาบซึ้งในพระราชหฤทัยและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านอย่างหาที่เปรียบมิได้ จนถึงวันนี้เราชาวไทยตระหนักแล้วว่าพระองค์ทรงเป็นยิ่งกว่าพระมหากษัตริย์ด้วยทศพิธราชธรรมอันเปี่ยมล้น ด้วยพระเมตตาที่ทรงมีต่ออาณาประชาราษฎร์โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ด้วยพระปรีชาสามารถ และด้วยพระวิริยะอุสาหะต่อพระราช-กรณียกิจทั้งปวง เพื่อช่วยราษฎรที่ยังยากจนในทุกภูมิภาค ทรงเน้นการช่วยเหลือพสกนิกรด้วยการพัฒนาเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้ดีขึ้น โดยมีหลักสำคัญเบื้องต้นคือให้ราษฎรพออยู่พอกินและสามารถพึ่งตนเองได้
ตลอดเวลากว่า ๖๐ ปี ทรงตรากตรำพระวรกายอย่างมากเพื่องานในโครงการพระราชดำริต่างๆ แต่ก็มิได้ทรงท้อต่อความลำบากและความเหน็ดเหนื่อย ทรงติดตามผลงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้งานทุกขั้นตอนดำเนินไป และสามารถให้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนโดยส่วนรวม ตลอดทั้งปีจะทรงแปรพระราชฐานเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พระราชราชกรณียกิจส่วนใหญ่ของพระองค์ คือการวางแผนพัฒนาเพื่อความเจริญก้าวหน้า และความมั่นคงในพื้นที่ทุกด้านอย่างสอดคล้องต้องกันเสมอ
จากข้อเขียนตอนหนึ่งของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้กล่าวว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นการช่วยเหลือให้ราษฎรสามารถ “พึ่งตนเองได้” โดยพระองค์จะมีแนวพระราชดำริในการพัฒนาเรียกว่า “การระเบิดจากข้างใน” คือต้องเข้าไปช่วยเหลือราษฎรในชุมชนต่างๆ ให้มีความเข้มแข็ง ก่อนที่จะออกมาติดต่อกับสังคมภายนอก ความช่วยเหลือต่างๆจะสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสภาพภูมิประเทศ เป็นลักษณะของการเตรียมความพร้อมของชุมชนอย่างค่อยเป็นค่อยไปให้สามารถรับการบริการด้านการพัฒนาของรัฐในด้านต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเน้นในด้านจิตวิทยาอีกด้วย ทรงมีพระราชดำรัสว่า “เราต้องคำนึงถึงด้านจิตวิทยาด้วย คือต้องไปให้เร็วที่สุด” ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่ราษฎรกำลังประสบอยู่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตนมิได้ถูกทอดทิ้งแต่ประการใด
การดำเนินงานนั้น พระองค์ทรงเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมโครงการเป็นสำคัญ โดยประชาชนคือผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงความประหยัดและผลประโยชน์จากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติให้มากที่สุด ยกเว้นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลือที่กำลังประสบความทุกข์ยากซึ่งต้องช่วยเหลือโดยด่วน
หลักการในการพัฒนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงพิจารณาถึงปัญหาสภาพแวดล้อมแต่ละพื้นที่เป็นหลักโดยเฉพาะความกระตือรือล้นของคนในพื้นที่รวมทั้งปัญหาและความต้องการของเขาเหล่านั้นเป็นพิเศษ ทรงมีพระราชดำรัสว่า “การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศทางสังคมวิทยา คือ นิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนคิด อย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไปช่วยโดยที่จะคิดให้เขาเข้ากับเราให้ได้ แต่ถ้าเราไปแล้วเราไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริงๆ แล้วอธิบายให้เขาเข้าใจหลักการเข้าไปพัฒนานี้ จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับวงจรของธรรมชาติอยู่เสมอ เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ฟื้นฟูรักษาธรรมชาติไว้ได้อย่างเหมาะสมในเรื่องสำคัญ ๓เรื่อง คือ ที่ดิน ป้าไม้ และน้ำ
ในเรื่องที่ดิน พระองค์ตระหนักดีว่า ที่ดินที่มีอยู่มีอย่างจำกัดทรงหาวิธีแก้ไขด้วยการพยายามเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรโดยอาศัยเทคนิคทางวิชาการที่เหมาะสมมาประยุกต์ไว้ รวมทั้งทรงหาวิธีพัฒนาที่ดินรกร้างว่างเปล่า เพื่อจัดสรรแก่ผู้ไร้ที่ทำมาหากินได้ประกอบอาชีพ
ในเรื่องป่าไม้ ทรงเห็นว่าป่าไม้มีประโยชน์ในแง่ของการอนุรักษ์ที่ดิน เป็นต้นลำธาร ทรงพยายามฟื้นฟูสภาพป่า หาวิธีที่จะให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการปลูกป่าในลักษณะที่มีการทำเกษตรในรูปแบบต่างๆควบคู่ไปกับการปลูกปรับปรุงดูแลรักษาป่าไม้
และในเรื่องของน้ำ ได้แก่สร้างอ่างเก็บน้ำ เหมือง ฝาย เพื่อรักษาน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และรักษาพื้นที่โดยรอบให้เกิดความชุ่มชื้น ทรงเลือกสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆเป็นโครงการที่ให้ประโยชน์กับชุมชนระดับหมู่บ้าน อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็กให้เน้นประโยชน์ทางด้านการเกษตรเป็นหลัก
จะเห็นได้ว่าพระราชกรณียกิจทั้งปวงแห่งพระองค์ท่าน ได้ทำเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎร์โดยแท้จริง
เข้าชม : 764
|