ข้อมูลทั่วไปอำเภอจะนะ
อาณาเขตอำเภอจะนะ
อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลามีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ต่างๆ ดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอเมืองสงขลา และอ่าวไทย
- ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอนาทวี
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอเทพา และอ่าวไทย
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภอนาหม่อม อำเภอสะเดา และอำเภอหาดใหญ่
สภาพภูมิประเทศ
สภาพภูมิประเทศของอำเภอจะนะเป็นที่ราบเหมาะแก่การเพาะปลูก ทำนา ทำสวนผลไม้ มีบางส่วนเป็นทิวเขาซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก แต่ไม่สูงมากนัก บริเวณทิวเขา จะมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ป่าเบญจพรรณ ชื้น มีน้ำตก คือน้ำตกโตนตายใจ อยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาเหรง ทางด้านทิศตะวันออก จะเป็นชายฝั่ง ติดกับทะเลอ่าวไทย ซึ่งชายหาดมีความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร ทอดตัวยาวตั้งแต่อำเภอเมือง จรดอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ชายหาดที่สำคัญได้แก่ หาดวังหนาว ตำบลนาทับ และหาดสะกอม ตำบลสะกอม
สภาพภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศของอำเภอจะนะเป็นแบบร้อนชื้น มีฝนตกเกือบตลอดทั้งปี ฤดูกาลมี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนกับฤดูฝน โดยฤดูร้อนจะเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม ส่วนฤดูฝนจะเริ่มในเดือนตุลาคม - เดือนธันวาคม และจะมีฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน – กันยายน
เขตการปกครอง
อำเภอจะนะ แบ่งการปกครองออกเป็น 14 ตำบล 139 หมู่บ้าน มีองค์การบริหารส่วนตำบล 14 แห่ง และเทศบาล 1 แห่ง
1. ตำบลบ้านนา
2. ตำบลสะกอม
3. ตำบลตลิ่งชัน
4. ตำบลนาทับ
5. ตำบลจะโหนง
6. ตำบลคลองเปียะ
7. ตำบลนาหว้า
|
8. ตำบลป่าชิง
9. ตำบลคู
10.ตำบลแค
11.ตำบลสะพานไม้แก่น
12.ตำบลท่าหมอไทร
13.ตำบลขุนตัดหวาย
14.ตำบลน้ำขาว
|
ประชากร
โครงสร้างประชากรอำเภอจะนะส่วนใหญ่จะเป็นประชากรวัยแรงงาน รองลงมาได้แก่กลุ่มเด็กวัยเรียน และเด็กเล็ก อัตราเพิ่มของประชากร เท่ากับ1.05
การนับถือศาสนา
ประชากรอำเภอจะนะส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามคิดเป็นร้อยละ 77 รองลงมาคือศาสนาพุทธคิดเป็นร้อยละ 23 ซึ่งมีจำนวนศาสนสถานดังนี้
- มัสยิด จำนวน 65 แห่ง มัสยิดที่สำคัญ ได้แก่ มัสยิดนูรุดีน ตำบลบ้านนา
- วัด จำนวน 30 แห่ง วัดที่สำคัญ ได้แก่ วัดเกษมรัตน์ วัดขวด
การสาธารณสุข
สถานพยาบาลในอำเภอจะนะ ประกอบด้วย โรงพยาบาลภาครัฐ จำนวน 1 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน จำนวน 19 แห่ง และคลินิกเอกชน จำนวน 4 แห่ง บุคลากรทางการแพทย์ในอำเภอจะนะ ประกอบด้วย แพทย์ จำนวน 7 คน ทันตแพทย์ จำนวน 5 คน เภสัชกร จำนวน 6 คน และพยาบาล จำนวน 69 คน
การประกอบอาชีพ
ประชากรในอำเภอจะนะส่วนใหญ่มีอาชีพด้านการเกษตรเป็นหลัก อาชีพเกษตรที่สำคัญ คือ การทำสวนยางพารา ซึ่งถือเป็นรายได้หลัก รองลงมาคือการประมง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการประมงที่ทำกันในครัวเรือน ส่วนการทำสวนผลไม้ก็มีสวนทุเรียน สวนลองกอง สวนเงาะ สวนส้ม ซึ่งปลูกกันทั่วไป มากบ้างน้อยบ้าง และการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว นกเขาชวา โดยเฉพาะนกเขาชวามีการเลี้ยงกันเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ ทำรายได้ปีหนึ่งๆ นับล้านบาท นอกจากจะเป็นเมืองเกษตรกรรมแล้ว ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ โรงงานน้ำยางพารา จึงทำให้มีการจ้างงานมากขึ้น ทำให้คนจะนะ ไม่ต้องออกไปทำงานไกลๆ
เข้าชม : 1178 |