9 อย่างที่ควรมีก่อนเริ่มเปิดร้านออนไลน์มาบอกคุณผู้อ่าน เพื่อให้ได้เตรียมตัวก่อนเริ่มเปิดร้านออนไลน์กันค่ะ
1. ชื่อร้าน
หลายคนคิดว่าจะตั้งชื่อร้านอะไรก็ได้ตามใจชอบ ยิ่งถ้าแปลกไม่ซ้ำใครยิ่งดี (บางทีถึงกับเปิดดิกชันนารีหากันด้วยซ้ำ) แต่หารู้ไม่ว่าชื่อที่อ่านออกเสียงยาก ไม่คุ้นหูคนไทย ก็มีผลทำให้ลูกค้าไม่จดจำร้าน หรือบางทีก็ไม่กล้าแนะนำร้านของคุณกับคนรู้จัก เพราะกลัวออกเสียงผิด เท่ากับคุณเสียโอกาสได้ลูกค้าใหม่ๆ ไปอีกคน เพราะอย่างนี้ คุณควรคิดให้ดีว่าอยากได้ชื่อที่ดูหรูแต่จำยาก หรือชื่อเบสิกที่จำง่าย นอกจากนี้ จะดีมากถ้าชื่อร้านของคุณมีความสัมพันธ์กับสินค้าที่คุณขาย เช่น ถ้าคุณขายนาฬิกาและตั้งชื่อให้มีคำว่า Time หรือ Watch ลูกค้าก็จะสามารถจดจำและหาร้านของคุณเจอได้ง่ายยิ่งขึ้น
2. สินค้า
สินค้าที่คุณเลือกขายอาจเป็นสิ่งที่คุณชอบก็ได้ เพราะคุณจะรู้รอบรู้ลึกเกี่ยวกับตัวสินค้านั้นๆ ทำให้เวลาขายสามารถให้ข้อมูลลูกค้าได้ ไม่นับว่าการได้ขายของท่ีชอบจะทำให้คุณมีความสุข เหมือนได้ทำสิ่งที่รัก แต่ถ้าคุณไม่ได้ชื่นชอบอะไรเป็นพิเศษ แค่อยากมีร้านค้าเป็นของตัวเอง คุณอาจจะเริ่มโดยการสำรวจตลาดว่าสินค้าอะไรกำลังเป็นที่ต้องการและน่าจะทำกำไรได้ดี ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่คนส่วนมากหันมาใช้สมาร์ทโฟน การขายแบตสำรองหรือเคสโทรศัพท์มือถือก็เป็นความคิดที่ไม่เลว
แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกขายอะไร อย่าลืมคิดถึงราคาต้นทุนและกำไรที่จะได้รับ เพราะการขายของออนไลน์มีการตัดราคากันอยู่บ่อยครั้ง ทางที่ดีที่สุด คุณควรเริ่มด้วยสินค้าที่มีราคาต้นทุนต่ำ
3. เงินทุน
เงินที่คุณจะนำมาลงทุนในการเริ่มร้านออนไลน์ไม่ควรจะครอบคลุมแค่ค่าสินค้าที่คุณจะสั่งมาขาย แต่ควรรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่คุณอาจต้องเสีย เช่น ค่าโฆษณา ค่าจองพื้นที่ออกร้าน ฯลฯ ดังนั้น คุณควรวางแผนให้ดี ว่าเงินทุนของคุณนี้จะสามารถทำให้คุณดำเนินการได้แบบไม่ต้องไปขอยืมคนอื่นทีหลัง ยิ่งถ้าคุณคิดจะลาออกจากงานประจำมาขายของออนไลน์ด้วยแล้ว คุณยิ่งต้องคิดให้รอบคอบ
4. จุดยืนของร้าน
เมื่อมีสินค้าแล้ว ก็ถึงเวลาคิดว่าสินค้าของคุณเหมาะที่จะขายส่งหรือขายปลีกมากกว่ากัน บางครั้งการเลือกขายสินค้าส่งในราคาถูก เอากำไรน้อย อาจทำให้คุณรวยแบบไม่รู้เรื่องก็ได้ ในขณะที่สินค้าบางอย่าง เช่น สินค้าแฟชั่น ก็เหมาะที่จะขายปลีกแบบเอากำไรสูง
5. ช่องทางจำหน่าย
ช่องทางจำหน่ายก็เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของร้านคุณ หากคุณคิดจะเปิดร้านค้าออนไลน์ ช่องทางจำหน่ายที่ง่ายที่สุดก็คือ การเปิดเพจ Facebook เพราะทั้งเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายกว่าช่องทางอื่นๆ อย่าง เว็บไซต์ สามารถลงโฆษณาได้ตามงบและตามกลุ่มเป้าหมายที่คุณกำหนดเอง แถมยังอัพเดทได้ง่ายอีกด้วย
6. แผนการตลาด
แผนการตลาด เป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดชะตาของร้านคุณ เพราะถึงคุณจะมีสินค้าคุณภาพดีราคาถูก แต่ถ้าไม่มีใครรู้จักร้านของคุณก็ไม่มีประโยชน์ คุณจึงควรวางแผนให้ดีว่าจะโปรโมตร้านค้าหรือสินค้าของคุณอย่างไร จะดึงดูดลูกค้าอย่างไร และจะทำให้อย่างไรให้ร้านคุณที่เพิ่งเปิดใหม่เอาชนะร้านอื่นๆ ที่เปิดมาก่อนหน้าคุณได้ การวางแผนการตลาดอาจเริ่มจากขั้นตอนต่อไปนี้
– วาดภาพเป้าหมายให้ชัดเจน
– มีขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เช่น เมื่อเปิดเพจแล้วจะทำให้คนรู้จักอย่างไร
– วางงบประมาณที่จะใช้เพื่อทำให้ขั้นตอนต่างๆ สำเร็จ
– วางกำหนดเวลาเพื่อประเมิน ตรวจสอบ และปรับปรุงแผน
7. ช่องทางการชำระเงิน
การชำระเงินควรเป็นเรื่องง่ายสำหรับลูกค้า คุณควรเปิดบัญชีสำหรับร้านของคุณกับธนาคารที่คนส่วนใหญ่ใช้บริการ แทนที่จะเลือกธนาคารที่ไม่เป็นที่นิยมแต่ให้ดอกเบี้ยดี นอกจากนี้ ถ้าคุณวางแผนจะขายสินค้าให้กับลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศ คุณก็ควรมีบัญชีที่รองรับการโอนเงินจากต่างประเทศ (และมีแผนสำหรับการจัดส่งสินค้าไปต่างประเทศแบบที่คุณไม่ขาดทุน) บัญชี Paypal นับว่าเป็นทางเลือกที่ดีและสามารถสมัครใช้งานง่าย
8. ความอดทนและมุ่งมั่น
หลายคนเริ่มธุรกิจด้วยความรู้สึกอยากรวยเร็ว เราหวังให้การลงทุนของเราผลิดอกออกผลเป็นกำไรตั้งแต่วินาทีที่เราเริ่มเปิดร้าน แต่นั่นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นความเพ้อฝัน เพราะเมื่อคุณเริ่มเปิดร้าน เป็นไปได้ว่าคุณจะไม่มีลูกค้าเลยในอาทิตย์แรกๆ (ไม่นับเพื่อน ญาติ และคนรู้จัก) อาจมีลูกค้าหลายคนมาให้ความสนใจสินค้าของคุณแต่ก็จากไป คุณจะเริ่มสงสัยว่าคุณทำอะไรผิด บางครั้งอาจถึงขั้นอยากลดราคาแล้วขายทุกอย่างเพื่อให้คืนทุน อย่าทำแบบนั้น คุณต้องมั่นใจและหมั่นตรวจสอบแผนการตลาดของคุณว่าได้ผลตามคาดหรือไม่ และหัดปรับเปลี่ยน ทำอะไรใหม่ๆ เพื่อเรียกลูกค้า และอย่าท้อแท้
9. เวลา
ถ้าคุณเตรียมตัวจะยึดการขายของออนไลน์เป็นอาชีพก็แล้วไป แต่ถ้าหากคุณเป็นคนที่ยังต้องทำงานประจำ คุณควรวางแผนบริหารเวลาให้ดี เพราะบางที “ความอยากได้” ของลูกค้าก็มีระยะเวลาจำกัด การที่คุณไม่สามารถโต้ตอบลูกค้าได้ทันเวลา อาจหมายถึงการเสียลูกค้าไป คุณอาจใช้ตัวช่วยอย่างระบบตอบกลับอัตโนมัติของ Page365 ตอบบทสนทนาจากลูกค้าในเวลาที่คุณไม่ว่าง เพื่อเป็นการซื้อเวลาไม่ให้ลูกค้ารู้สึกว่าถูกทอดทิ้งก็ได้
เข้าชม : 424
|