เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มที่รัฐให้การสนับสนุน ได้เข้าไปล้อมจับกุมและสังหารนักศึกษาและประชาชนภายใน บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งกำลังชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ให้จอมพลถนอม กิตติขจรออกนอกประเทศ ในเหตุการณ์นี้ ตำรวจตระเวนชายแดนนำโดยค่ายนเรศวรจากหัวหิน, กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ตำรวจ และกลุ่มคนที่ตั้งโดยงบ กอ.รมน. คือ กลุ่มนวพล และ กลุ่มกระทิงแดง ได้ใช้กำลังอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้ที่บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจำนวนมาก
สาเหตุของความขัดแย้ง
ในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2519 มีความพยายามกลับประเทศไทย ของ จอมพลประภาส จารุเสถียร ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2519 และการกลับประเทศไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 หลังจากที่ทั้งสองได้เดินทางออกนอกประเทศหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาหลังจากการกลับมาของจอมพลประภาส ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้จอมพลประภาส เดินทางกลับออกนอกประเทศ จนกระทั่งในที่สุด จอมพลประภาสจึงยินยอมเดินทางออกนอกประเทศในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2519
ต่อมา จอมพลถนอมได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศอีกในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 โดยก่อนหน้านั้นได้แวะที่สิงคโปร์ เพื่อบวชเป็นสามเณรที่วัดไทยในสิงคโปร์ และได้รับอนุญาตให้เข้าอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจึงได้ชุมนุมเพื่อขับไล่อีก
รำลึก 6ตุลา 2519 ภาพเหตุการณ์จริง นองเลือด ณ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ในขณะนั้นได้เกิดความแตกแยก ทั้งในพรรคการเมืองและกลุ่มประชาชน ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สนับสนุนบทบาทของนิสิตนักศึกษา และ กลุ่มที่ต่อต้านนิสิตนักศึกษา ทำให้สถาการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น จนกระทั่ง ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศลาออกจากตำแหน่ง แต่พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ก็ตัดสินใจเลือก ม.ร.ว. เสนีย์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง
ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2519 นายวิชัย เกษศรีพงษา และนายชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้านครปฐม และสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ถูกซ้อมตายระหว่างออกติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอม และถูกนำศพไปแขวนคอที่ประตูทางเข้าที่จัดสรร บริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม แต่ ตำรวจสรุปสำนวนคดีว่าเกิดจากการผิดใจกับคนในที่ทำงาน
ความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้ขับไล่พระถนอม ทวีความรุนแรงมากขึ้น มหาวิทยาลัยทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมีการชุมนุมเพื่ออภิปรายโจมตีรัฐบาล ต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม และให้จัดการจับฆาตกรสังหารโหดฆ่าแขวนคอที่นครปฐม สภาแรงงานแห่งประเทศไทยได้ยื่นคำขาดต่อรัฐบาล ให้จอมพลถนอมออกนอกประเทศภายใน 5 วัน มิฉะนั้นจะหยุดงานทั้งประเทศตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นต้นไป ทั้งนักศึกษา สภาแรงงาน และผู้ต่อต้าน ได้รวมตัวกันประท้วงที่สนามหลวง จากนั้นจึงย้ายเข้าไปชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทางด้านกลุ่มที่ต่อต้านการกระทำของนิสิตนักศึกษา อันประกอบด้วย กลุ่มนวพล (พลโท สำราญ แพทยกุล เป็นแกนนำ รหัส นวพล001 เป็นหนึ่งในองคมนตรี) กลุ่มพิทักษ์ชาติไทย กลุ่มกระทิงแดง และอื่น ๆ ได้ร่วมกันแถลงการณ์กล่าวหาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สภาแรงงาน และนักการเมืองบางคนว่า ได้ถือเอากรณีพระถนอม เป็นเงื่อนไขสร้างความไม่สงบในประเทศ
ต่อมากลุ่มเหล่านี้จึงเดินทางเข้ามาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า สนามเสือป่า ราชตฤณมัยสมาคม และสนามหลวง เพื่อต่อต้านการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา กลุ่มเหล่านี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจับกุม และปลดรัฐมนตรีบางคนที่เชื่อว่าให้การสนับสนุนนิสิตนักศึกษา แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้สั่งการประการใด
การสังหารในวันที่ 6 ตุลาคม
เวลาเช้ามืดราว 2 นาฬิกา กลุ่มกระทิงแดงทุกจุด รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมปฏิบัติการโดยประสานงานกับตำรวจนอกเครื่องแบบ และมีกลุ่มกระทิงแดงเข้าแทรกตัวปะปนกับหมู่นิสิตนักศึกษา กลุ่มนวพลได้เรียกร้องให้รัฐบาลจับกุมนิสิตนักศึกษาเวลาราว 5 นาฬิกา เริ่มมีการยิงตอบโต้จากภายนอกเข้าสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยถูกล้อมไว้
เวลา 7 นาฬิกา กลุ่มทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง และกลุ่มอันธพาล ได้ใช้รถบัสพุ่งชนประตูมหาวิทยาลัย ทั้งหมดเข้าสู่มหาวิทยาลัยและใช้อาวุธหนักระดมยิง ตำรวจหน่วยคอมมานโด หน่วยปฏิบัติการพิเศษและตำรวจนครบาลจากท้องที่ต่างๆเข้า
ถึงที่เกิดเหตุ เวลา 8 นาฬิกา ตำรวจตระเวนชายแดนพร้อมอาวุธครบมือเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมยิงกระสุนเข้าใส่นักศึกษา
เวลา 8.30 น. - 10.00 น. นักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิ่งหนีวิถีกระสุนจากตำรวจตระเวนชายแดนและกลุ่มผู้ก่อเหตุ นักศึกษาบางคนวิ่งหนีออกทางประตูหน้ามหาวิทยาลัย นักศึกษาบางส่วนหนีอออกทางแม่น้ำเจ้าพระยา หลายคนถูกรุมตี รุมกระทืบ บางคนที่ถูกทำร้ายบาดเจ็บถูกนำไปแขวนคอ และถูกผู้คนแสดงท่าทางเยาะเย้ยศพ กลุ่มคนบางกลุ่มลากเอาศพนักศึกษามาเผากลางถนนราชดำเนิน ตรงข้ามพระแม่ธรณีบีบมวยผม โดยใช้ยางรถยนต์ทับและราดด้วยน้ำมันเบนซิน บางส่วนใช้ของแข็งทำอนาจารศพนักศึกษาหญิง
เวลาราว 11 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าเคลียร์พื้นที่ และให้นักศึกษานอนคว่ำหน้ากับพื้นสนามฟุตบอล จากนั้นจึงนำตัวผู้ต้องหาขึ้นรถออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อควบคุมตัวไว้ที่โรงเรียนตำรวจนครบาล บางเขน กลุ่มคนที่มุงดูใช้ก้อนหิน อิฐ ไม้ ขว้างปาผู้ที่อยู่บนรถ
เวลาบ่าย กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน นำโดย พล.ต.ท.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน และกลุ่มแม่บ้าน นำโดย ทมยันตี ได้บุกเข้าทำเนียบรัฐบาล บางคนได้ถือเชือกเข้าไปโดยจะเข้าไปแขวนคอ 3 รัฐมนตรีของรัฐบาล ได้แก่ นายชวน หลีกภัย, นายดำรง ลัทธิพิพัฒน์, นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ เนื่องจากกล่าวหาว่าบุคคลทั้ง 3 เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ลงไปพบและยืนยันว่าบุคคลทั้ง 3 ไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว
ครั้นถึงเย็นวันนั้น คณะทหารที่เรียกตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ภายใต้การนำของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง มีผลให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ต้องพ้นจากตำแหน่ง และนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่
หลังจากเหตุการณ์นี้ มีการพิจารณาคดีในศาลยืดยาวถึง 3 ปี โดยแกนนำนักศึกษา 19 คนถูกคุมขังตีตรวนโดยตลอด แต่ฝ่ายผู้เข้าล้อมปราบไม่มีผู้ใดได้รับการลงโทษ มีผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนจากประเทศต่างๆ จนเมื่อ 3 ปีผ่านไป ได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ ไม่ต้องถูกสอบสวนลงโทษแต่อย่างใด
บุคคลที่เสียชีวิตหรือสูญหายในเหตุการณ์
ฝ่ายนักศึกษาและประชาชน เสียชีวิตอย่างน้อย 41 ราย ในจำนวนนี้ เป็นศพถูกเผา ระบุรายละเอียดแยกชายหญิงไม่ได้ จำนวน 4 ราย (หนึ่งในนั้น คือ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ กรรมการ อมธ. และสนนท. ซึ่งเป็นระดับแกนนำผู้ชุมนุมเพียงคนเดียวที่เสียชีวิต ผู้เสียชีวิตที่เหลือเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น และแกนนำที่รอดชีวิตส่วนใหญ่ถูกจับรวม 18 คน และนำตัวขึ้นศาลทหารข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนอยู่ 3 ปี จึงได้รับการปล่อยตัวเมื่อมีการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็น พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ส่วนแกนนำที่รอดจากการถูกจับกุมขึ้นศาลทหารได้ส่วนใหญ่ก็หลบหนีเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
เหตุการณ์ภายหลัง
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ และไม่กลับประเทศไทยจนตลอดชีวิต
นายสมัคร สุนทรเวช ผู้จัดรายการสถานีวิทยุยานเกราะ ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 39 ของไทย) โดยดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถึง 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตผู้นำเสรีไทยในสหรัฐอเมริกา หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และนายกรัฐมนตรี 4 สมัย ต้องลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคในปี พ.ศ. 2522 และยุติบทบาททางการเมืองไปทั้งหมด
ดร.สรรพสิริ วิริยศิริ ผู้อำนวยการช่อง 9 อสมท. ถูกปลดออกจากตำแหน่ง หลังแพร่ภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ต่อสาธารณะ
นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ หนึ่งในรัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องยุติบทบาททางการเมืองทั้งหมด และภายหลังเหตุการณ์ได้บวชเป็นพระ และเขียนจดหมายขึ้นมาฉบับหนึ่ง ชี้แจงถึงเหตุการณ์ทั้งหมด
หนังสือพิมพ์ทุกฉบับในประเทศไทย ถูกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ห้ามตีพิมพ์เผยแพร่เป็นเวลา 3 วัน (6 - 8 ตุลาคม พ.ศ. 2516) หลังจากนั้นตลอดรัฐบาลธานินทร์ มีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผล "โจมตีรัฐบาล" ในขณะที่หนังสือพิมพ์ที่ไม่โจมตีรัฐบาล เช่น ไทยรัฐ และ บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) สามารถดำเนินกิจการอย่างราบรื่น
11 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ปิดหนังสือพิมพ์ ดาวดารายุคสยาม รายวัน
10 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ปิดหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ ไม่มีกำหนด รวม 13 ฉบับ (ปิดตาย) 29 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ปิดหนังสือพิมพ์ ชาวไทย รายวัน 7 วัน ด้วยเหตุผล ลงข่าวเรื่อง ปลัดชลอ วนภูติ โกงอายุราชการ
14 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด เสียงปวงชน 3 วัน ด้วยเหตุผล พาดหัวข่าวไม่ตรงกับความจริง
18 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด ปฏิญญา รายปักษ์ ไม่มีกำหนดเพราะตีพิมพ์ข้อความอันมีลักษณะโฆษณาชวนเชื่อให้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์
20 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด แนวหน้าแห่งยุค เดลินิวส์ ด้วยเหตุผล ตีพิมพ์ข้อความที่ทำให้ต่างชาติอาจเข้าใจรัฐบาลไทยผิด
26 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด เดลิเมล์รายวัน ด้วยเหตุผล ตีพิมพ์โดยไม่ได้รับอนุญาตเรื่องจากใบอนุญาตขาดการต่ออายุไปแล้ว
27 มกราคม พ.ศ. 2520 ปิด ดาวดารายุคสยาม ด้วยเหตุผล ตีพิมพ์ข้อความเป็นเท็จ
15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ปิด บ้านเมือง 7 วัน ด้วยเหตุผล ตีพิมพ์ข้อความที่มีลักษณะกล่าวร้ายเสียดสีรัฐบาลไทย
18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ปิด เด่นสยามรายวัน ไม่มีกำหนด ด้วยเหตุผล วิจารณ์การปิดเดลินิวส์
31 มีนาคม พ.ศ. 2520 ปิด ชาวไทย ไม่มีกำหนด ด้วยเหตุผล เขียนข้อความบิดเบือนความเป็นจริง
10 เมษายน พ.ศ. 2520 ปิด เดลิไทม์ ไม่มีกำหนด
12 เมษายน พ.ศ. 2520 ปิด บางกอกเดลิไทม์ ไม่มีกำหนด
15 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 ปิด บูรพาไทม์ ยุคชาวสยาม ไม่มีกำหนด ด้วยเหตุผล กล่าวร้ายรัฐบาล กรณีใช้ ม.21 ประหารชีวิต พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ
25 พฤษภาคม พ.ศ. 2520 ยึดหนังสือ "เลือดล้างเลือด"
2 มิถุนายน พ.ศ. 2520 ปิด สยามรัฐ 7 วัน
2 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ปิด เสียงปวงชน ไม่มีกำหนด
2 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ปิด ยุคใหม่รายวัน ไม่มีกำหนด ที่ราชบุรี
8 สิงหาคม พ.ศ. 2520 ปิด หลังเมืองสมัย ไทยเดลี่ 7 วัน จากการลงบทความ "รัฐบาลแบบไหน"
13 สิงหาคม พ.ศ. 2520 เสียงปวงชน ถูกสั่งปิด จากบทความเรื่อง ''อธิปไตยของชาติ''
มีการขอพระราชทานอภัยโทษ ให้แก่ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งครอบคลุมถึงผู้ก่อเหตุจลาจล และสังหารนักศึกษา ตำรวจ กลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และกลุ่มนวพล ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ ได้รับกระเช้าเยี่ยมพระราชทาน
แกนนำนักศึกษาบางคนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลา 3 ปีโดยไม่ได้รับการพิจารณาคดี
พ.ศ. 2542 จอมพลถนอม กิตติขจร ถูกเสนอชื่อจากกองทัพ ให้เป็น นายทหารพิเศษรักษาพระองค์
พ.ศ. 2544 อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ก่อตั้งสำเร็จบนที่ดินเช่าของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริเวณใกล้เคียงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เลขที่ 14/16 ถนนราชดำเนิน ใช้เวลา 27 ปีนับตั้งแต่มีการเสนอให้สร้างใน ปี พ.ศ. 2517
ที่มา; http://webboard.mthai.com/5/2008-02-22/370609.html
เข้าชม : 589
|