ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมาของเมืองบ้านพรุนั้นไม่ได้มีการจดบันทึกไว้เป็นหลักฐานอย่างชัดเจนเพียงพอที่จะนำมาอ้างถึงทางวิชาการได้เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่เป็นเพียงการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่สืบต่อ ๆ กันมาหลายชั่วอายุคน และเท่าที่ค้นพบหลักฐานที่เป็นการบันทึก ระบุว่าชื่อของตำบลบ้านพรุนั้นมีที่มาจากภูมิประเทศอันเป็นที่ตั้งซึ่งเมื่อก่อนมีสภาพเป็น “พรุ” กระจายอยู่ทั่วไป ปัจจุบันพรุก็ยังหลงเหลืออยู่ เช่นพรุพลี พรุค้างคาว เป็นต้น
สมาชิกคนแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบ้านพรุ ตามคำบอกเล่ากันมา ระบุว่า “ตางกเง็ก” ที่มีบ้านเดิมอยู่ที่ควนจง โดยเข้ามาบุกเบิกถางพงเพื่อสร้างบ้านเรือนเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน เพราะพื้นที่ของบ้านพรุนั้นเหมาะสำหรับการทำการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก ทำไร่ ทำนา ทำสวน หรือการเลี้ยงสัตว์ ที่เหมาะกว่าควนจง ที่เป็นที่ดอน ซึ่งหลังจาก ตางกเง็กเข้ามาบุกเบิกระยะหนึ่ง ลูกหลานและเพื่อนบ้านแถบควนจง และใกล้เคียงย้ายถิ่นฐานเข้ามาปักหลักเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น และกลายเป็นหมู่บ้านและตำบลจนถึงปัจจุบัน จากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาบอกว่า เมื่อก่อนที่นี่ไม่มีกำนัน ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน มีแต่ “หัวบ้าน”แต่ต่อมาหลังจากที่มีกฎหมายปกครองท้องถิ่นเกิดขึ้น จึงได้มีการแต่งตั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้านขึ้น ซึ่งมี “นายบุญทอง ศรีสุวรรณโณ” เป็นกำนันคนแรกของตำบลบ้านพรุ
ความเจริญของตำบลบ้านพรุที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามการขยายตัวของชุมชน กระทรวงมหาดไทยจึงได้ประกาศตั้งตำบลบ้านพรุ ยกฐานะเป็น ‘’สุขาภิบาลบ้านพรุ’’ ตามประกาศลงวันที่15 พฤศจิกายน พ.ศ.2508 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 82 ตอนที่ 103 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2508 โดยกำหนดให้มีกรรมการสุขาภิบาล 11 คน มาจากการแต่งตั้ง 7 คน และอีก 4 คน เป็นกรรมการที่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ต่อมาใน พ.ศ.2530 สุขาภิบาลได้มีประธานที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีนายอำเภอเป็นที่ปรึกษา
อย่างไรก็ตามความเจริญของบ้านพรุก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้มีการยกฐานะจากสุขาภิบาลบ้านพรุ เป็น “เทศบาลตำบลบ้านพรุ” ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งชุมชนในตำบลบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2536 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 110 ตอนที่ 223 ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2536 โดยมีผลบังคับตั้งแต่ 26 มกราคม พ.ศ.2537 และได้ยกฐานะเป็น “เทศบาลเมืองบ้านพรุ” ตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งเทศบาลเมืองบ้านพรุ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 119 ตอนที่ 53ก ลงวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2545 มีพื้นที่ 17.97 ตารางกิโลเมตร
เข้าชม : 1107 |