[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
ร่วมสืบสานประเพณีไทย วันลอยกระทง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

พฤหัสบดี ที่ 14 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2567



กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศ ประเพณีลอยกระทง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี ๒๕๕๔ สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู คุ้มครอง และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่จับต้องไม่ได้

          ประเพณีลอยกระทง มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การลอยกระทงเป็นพิธีกรรมร่วมกันของผู้คนในชุมชน ทั้งสุวรรณภูมิหรือภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์  เพื่อขอขมาต่อธรรมชาติอันมีดินและน้ำที่หล่อเลี้ยง ตลอดจนพืชและสัตว์ที่เกื้อกูลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์มนุษย์จึงมีชีวิตเจริญเติบโตขึ้นได้  แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าลอยกระทงเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไร แต่พิธีกรรมเกี่ยวกับ "ผี” ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติมีอยู่กับผู้คนในชุมชนสุวรรณภูมิไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้วตั้งแต่ก่อนรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย 

          มนุษย์อุษาคเนย์รู้ว่าที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะน้ำและดินเป็นสำคัญ โดยมีน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพราะเป็นบ่อเกิดของสิ่งมีชีวิต เมื่อคนเรามีชีวิตอยู่รอดได้ ปีหนึ่ง จึงทำพิธีขอขมาที่ได้ล่วงล้ำก้ำเกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (เช่น เหยียบย่ำ ขับถ่าย ทิ้งของเสีย สิ่งปฏิกูล และอาจทำสิ่งอื่นที่ไม่เหมาะสม) โดยใช้วัสดุที่ลอยน้ำได้ใส่เครื่องเซ่นให้ลอยไปกับน้ำ เช่น ต้นกล้วย กระบอกไม้ไผ่ ฯลฯ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่คนเรารู้จักจากประสบการณ์ธรรมชาติ คือ สิ้นฤดูกาลเก่า เดือน ๑๒ ขึ้นฤดูกาลใหม่ เดือนอ้าย ตามจันทรคติ ที่มีดวงจันทร์เป็นศูนย์กลางเพราะเป็นสิ่งที่มีอำนาจทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง

          สำหรับในประเทศไทยการลอยกระทงเป็นประเพณีที่ชาวไทยสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันถึงแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด เพราะในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยและเอกสารร่วมสมัยก็ไม่มีปรากฏชื่อ"ลอยกระทง” แม้แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็มีแต่ชื่อ "เผาเทียนเล่นไฟ” ที่มีความหมายอย่างกว้างๆว่าการทำบุญไหว้พระส่วนราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ซึ่งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำที่มีน้ำท่วมหลายเดือนจึงเป็นศูนย์กลางสำคัญในการสร้างสรรค์ประเพณีเกี่ยวกับน้ำขึ้นมาให้เป็น "ประเพณีหลวง” ของราชอาณาจักร ดังมีหลักฐานตราไว้ในกฎมณเทียรบาล ว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จไปประกอบพิธีทางน้ำ เพื่อความมั่งคงและมั่งคั่งทางกสิกรรมของราษฎรและขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อประกอบพระราชพิธีโดยเฉพาะ ครั้นเมื่อถึงสมัยรัชการที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองเริ่มมั่นคง การศึกสงครามลดลงเกือบหมด การค้าก็มั่งคั่งขึ้น โดยเฉพาะกับจีน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฟื้นฟู ประเพณีพิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และด้วยความจำเป็นในด้านอื่นๆอีกจึงได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ ขึ้นมา โดยสมมุติให้ฉากของเรื่องเกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศ ว่า เป็นสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงเกิด กระทง ทำด้วยใบตองแทนวัสดุอื่นๆแล้วนิยมใช้ลอยกระทงมาแต่คราวนั้น

          ประเพณีลอยกระทงที่ทำด้วยใบตองในระยะแรก จำกัดอยู่แต่ในราชสำนักกรุงเทพฯ เท่านั้นซึ่งมีรายละเอียดพรรณนาอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๓ว่ากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ราชธิดาองค์โปรดได้แต่งกระทงเล่นทุกปีเมื่อนานเข้าก็เริ่มแพร่หลายสู่ราษฎรในกรุงเทพแล้วขยายไปยังหัวเมืองใกล้เคียงในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและกว่าจะเป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วประเทศก็ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ หรือก่อนหน้านั้นไม่นานนัก

          ประเพณีลอยกระทง นิยมทำกันในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง เพราะเป็นช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุด โดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น อาทิ เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าในวันเสด็จกลับจากเทวโลกเมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพุทธมารดา  หรือเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่ประทับรอยพระบาทประดิษฐานไว้บนหาดทรายที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ในประเทศอินเดีย เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า เพื่อลอยเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ คล้ายกับพิธีลอยบาปของพราหมณ์ และเพื่อสำนักบุญคุณของน้ำที่ได้นำมากินมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันรวมทั้ง ขอขมาลาโทษในการทำให้แหล่งน้ำนั้นๆไม่สะอาด

          วัสดุที่นำมาใช้เพื่อลอยเป็นกระทงมีหลากหลายลักษณะ แต่ส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นกันบ่อยๆในบ้านเราก็จะเป็นกระทงที่ทำจากใบตอง ปักด้วยเทียน เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยแสงสว่าง เพราะหาง่ายและก็ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย ภายในกระทงจะตั้งพุ่มทองน้อยธูป ๑ ดอก และเทียน ๑ ดอก กระทงแบบพราหมณ์ มีวิธีการทำแบบเดียวกับกระทงแบบพุทธ แต่ต่างกันตรงที่ไม่มีเครื่องทองน้อย บางท้องถิ่นจะมีการใส่หมากพลู เงินเหรียญ หรือ ตัดเส้นผม ตัดเล็บมือเล็บเท้าในกระทง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ในตัว จะเห็นได้ว่าประเพณีลอยกระทงนั้น สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยเรามีวัฒนธรรมที่ผูกพันกับสายน้ำอย่างมาก เพราะน้ำถือเป็นสิ่งสำคัญในการหล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ ทั้งที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคอยู่เป็นประจำทุกวัน

          ปีนี้วันลอยกระทงตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบลคลองหอยโข่ง ขอเชิญชวนร่วมสืบสานคุณค่าประเพณีลอยกระทงให้คงอยู่คู่สังคมไทยโดยการใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติเพื่อช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและสายน้ำให้สะอาด 

                                                                                                                                                   ขอบคุณข้อมูลจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม




เข้าชม : 18


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      ร่วมสืบสานประเพณีไทย วันลอยกระทง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 14 / พ.ย. / 2567
      ศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบลคลองหอยโข่ง เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ 17 / ต.ค. / 2567
      ตารางสอบปลายภาค ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 12 / ก.ย. / 2567
      รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 การแข่งขันโครงงานนักศึกษา ด้านการใช้และอนุรักษ์พลังงานไฟฟ้าเพื่อชีวิตและสังคม ชื่อโครงงาน เครื่องดูดฝุ่นจากท่อ PVC 11 / ก.ย. / 2567
      ขอเชิญร่วมลงนามถวายพระพรออนไลน์ ตลอดเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๗ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ 14 / ก.ค. / 2567


 
ศูนย์การเรียนรู้ตำบลคลองหอยโข่ง
บ้านจอมหรำ หมู่ที่ 1 ต.คลองหอยโข่ง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา 90230 โทรศัพท์ 099-4073991

  facebook:กศน.ตำบลคลองหอยโข่ง
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05