เลือกผิดชีวิตเปลี่ยน! เลือกปลั๊กพ่วงอย่างไรให้ปลอดภัย
ที่มา : sanook.com 06 มี.ค. 66 (11:10 น.)
ปลั๊กพ่วงมีแบบไหนบ้าง?
แบบที่ 1 ปลั๊กสามตา หรือปลั๊กพ่วง 2 ขา ชื่อนี้ถูกเรียกกันมานานแสนนาน ที่เรียกว่าปลั๊กสามตาก็เพราะเกิดจากปลั๊กพ่วงในสมัยก่อนจะมีรูปลั๊กให้มา 3 รูเสียบ ชาวบ้านก็เลยเรียกติดปากกันว่าปลั๊กสามตาครับ ใช้งานได้ทั่วไป เช่น เสียบปลั๊กพัดลม ชาร์จโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต
แบบที่ 2 ปลั๊กโรลสายไฟ ตัวปลั๊กจะเป็นโรลไว้ใช้สำหรับม้วนเก็บและดึงสายปลั๊กไฟออกมาใช้งานได้ในตัวเดียว มักใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายเครื่องพร้อมกันในพื้นที่กว้าง เช่น เสียบปลั๊กพัดลมหลายตัวในงานเลี้ยงบริเวณบ้าน
แบบที่ 3 ปลั๊กบล็อคยางสนาม วัสดุเป็นยางเพื่อลดแรงกระแทก พกพาง่าย ใช้งานได้นาน รูปทรงเรียบง่ายครับ ส่วนใหญ่ใช้กับงานช่าง เช่น งานเลื่อยไม้ งานอ๊อกเหล็ก
แบบที่ 4 ปลั๊กกรองไฟ เป็นปลั๊กที่มีราคาสูง มีเต้าเสียบรองรับปลั๊กได้เยอะถึง 8 เต้าเสียบ มีฟังก์ชันช่วยกรองสัญญาณภาพและเสียง ทำให้ไม่มีคลื่นรบกวน แถมยังกันไฟกระชากได้เป็นอย่างดีอีกด้วยครับ มักใช้ในโฮมออฟฟิศ หรือมินิฮอลล์ที่จัดงานรื่นเริง เช่น เสียบปลั๊กจอ LED เครื่องเล่นเพลง เครื่องเสียง
แบบที่ 5 ปลั๊กกันไฟกระชาก เป็นปลั๊กที่มีฟีเจอร์กันไฟกระชากจากฟ้าผ่า หม้อแปลงระเบิด โดยจะใส่วงจรกันไฟกระชากมาด้วย ใครที่คิดจะใช้ปลั๊กไฟตัวนี้ควรติดตั้งสายดินเพื่อความปลอดภัยด้วยนะครับ มักใช้ในบ้านกับงานทั่วไป เช่น เสียบปลั๊กทีวี ตู้เย็น
ผมขอสรุปง่าย ๆ เกี่ยวกับประเภทของปลั๊กพ่วงพร้อมเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างและวิธีการเลือกใช้งานไว้ให้ดังนี้นะครับ
เป็นยังไงกันบ้างครับได้รู้จักประเภทและคุณสมบัติการใช้งานของปลั๊กพ่วงกันไปแล้ว ทีนี้ เรามาดูกันว่าวิธีการเลือกซื้อปลั๊กพ่วงดี ๆ ซักอันต้องทำยังไง? ไม่ยากเลยครับ…ปลั๊กพ่วงที่ดีมีคุณภาพปลอดภัยได้มาตรฐานต้องเป็นปลั๊กที่มีสัญลักษณ์ มอก.ชัดเจนเท่านั้นครับ
7 วิธีเลือกซื้อปลั๊กพ่วง เลือกอย่างไรให้ปลอดภัยได้มาตรฐาน
1.สัญลักษณ์ มอก. มีสัญลักษณ์มาตรฐาน มอก.ปลั๊กไฟ (มอก.2432-2555) อยู่บนบรรจุภัณฑ์ และบนผลิตภัณฑ์
2.เต้ารับ ต้องเป็น 3 ขั้ว มีม่านนิรภัยปิดรูเต้ารับทุกเต้าเพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอม และมีขั้วสายดิน
3.เต้าเสียบ ต้องเป็นแบบ 3 ขากลม ทั้ง 3 ขา หมุนออกไม่ได้ และมีฉนวนกันกระแสไฟฟ้าบริเวณโคนขาปลั๊กไฟ เพื่อป้องกันหากนิ้วไปแตะโดนโคนขาปลั๊กไฟ และที่สำคัญต้องมีสัญลักษณ์ระบุเลขที่ มอก. 166-2549 ด้วยครับ
4.ตัวปลั๊กพ่วงหรือรางปลั๊ก ต้องทำจากวัสดุที่ไม่ลามไฟ เช่น พลาสติก AVC, พลาสติก ABS หรือโพลีคาร์บอเนต ที่ผ่านมาตรฐาน UL94
5. ตัวตัดไฟ ป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิน หากเต้ารับไฟฟ้ามีตั้งแต่ 3 ช่องขึ้นไป ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันกระแสไฟฟ้าเกิน หรือ Circuit Breaker ครับ เพราะเมื่อกระแสไฟเกินเบรกเกอร์จะช่วยตัดกระแสไฟให้อัตโนมัติครับ
6. มาตรฐานของสายไฟ ต้องเป็นสายไฟฟ้าแบบกลมประเภท 3 ขั้วเท่านั้น แรงดันไฟฟ้าของสายไฟต้องไม่ต่ำกว่าเต้ารับและเต้าเสียบ และมีเลข มอก. 11-2553 ที่สำคัญสายไฟต้องไม่ชำรุด ขาด หรือแตกด้วยนะครับ
6. สวิตช์ไฟฟ้าบนรางปลั๊กไฟ เป็นอุปกรณ์เสริมบนตัวรางปลั๊กไฟที่จะมีหรือไม่มีก็ได้เช่นเดียวกับช่อง USB ครับ แต่ถ้ามีก็ต้องได้รับมาตรฐาน มอก. 824-2551 หรือ IEC61058 ครับ ลองสังเกตดูนะครับ
วิธีเลือกซื้อปลั๊กพ่วงอาจจะมีหลายจุดที่ต้องสังเกตนะครับ แต่เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน เลือกเยอะ ๆ ไว้อุ่นใจและปลอดภัยกว่าแน่นอนครับ
สุดท้าย ผมมีข้อควรระวังในการใช้งานปลั๊กพ่วงมาฝากกันด้วยครับ
ห้ามเอาปลั๊กพ่วงที่ชำรุดมาใช้งานอย่างเด็ดขาด เช่น ฉนวนหุ้มสายไฟแตก สายไฟมีรอยซ่อมแซมหรือพันด้วยเทป เต้ารับและเต้าเสียบมีรอยไหม้ เพราะเสี่ยงเกิดไฟฟ้าลัดวงจร อาจถึงขั้นไฟไหม้ได้เลยนะครับ
- ห้ามนำรางปลั๊กพ่วงไปติดตั้งแบบถาวร เพราะรางปลั๊กไฟถูกออกแบบมาให้ใช้งานชั่วคราว ถ้าเราเอาไปติดตั้งแบบนั้นจะชำรุดได้ง่ายและเสื่อมสภาพครับ
- ไม่ใช้ปลั๊กพ่วงกับเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าตลอดเวลา เช่น ตู้เย็น เครื่องทำน้ำเย็น เป็นต้น
- ไม่ใช้รางปลั๊กพ่วงต่อพ่วงกันหลายชั้น เพราะอาจทำให้สายไฟเกิดความ ร้อนสูง และเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้ครับ
- ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนเสียบปลั๊กพ่วง
- ถอดปลั๊กหลังใช้งาน ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
ข้อควรระวังในการใช้งานปลั๊กพ่วง
อย่าลืมนะครับว่าอันตรายจากการใช้ปลั๊กพ่วงเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ และไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าคุณไม่ระมัดระวังในการใช้งานก็เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้เลยนะครับ การใช้งานเกินขนาดแบบว่าเสียบปลั๊กทุกช่อง หรือเสียบปลั๊กทิ้งไว้ตอนไม่อยู่บ้านหลายวัน ก็อาจทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดไฟไหม้ในที่สุดนะครับ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน คุณต้องเลือกใช้และรู้วิธีใช้ปลั๊กพ่วงอย่างถูกวิธีนะครับ แค่หันมาเลือกใช้ปลั๊กที่มีมาตรฐาน มอก. เท่านี้ชีวิตก็ปลอดภัยครับ
เข้าชม : 271
|