ห้องสมุดเคลื่อนที่
ความหมายของห้องสมุดเคลื่อนที่
ห้องสมุดเคลื่อนที่ (Mobile library) เป็นบริการสารสนเทศเคลื่อนที่ นับเป็นการจัดบริการในเชิงรุก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอ่าน และการให้ความรู้และความบันเทิงแก่ผู้ที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งข้อมูล โดยนำทรัพยากรสารสนเทศประเภทต่างๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ เกมส์ ของเล่น ฯลฯ ไปยังชุมชนด้วยพาหนะ ประเภทต่างๆ เช่น รถ รถไฟ เรือ ฯลฯ หรือบางแห่งอาจใช้วิธีการเดินทางด้วยเท้าในกรณีที่สามารถเข้าถึงด้วยพาหนะอื่น
การดำเนินการห้องสมุดเคลื่อนที่ สามารถใช้วัสดุ อุปกรณ์ประเภทต่างๆ บรรจุทรัพยากรสารสนเทศ เคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่างๆ เช่นกล่องหนังสือ ถุงหนังสือ ย่ามหนังสือ กระเป๋าหนังสือเป็นต้น
ส่วนใหญ่ การดำเนินการห้องสมุดเคลื่อนที่ของประเทศไทยอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งเป็นงานบริการประเภทหนึ่งของห้องสมุดประชาชน ยิ่งกว่านั้น ปัจจุบันห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ภาควิชาบรรรารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ รวมทั้งชมรมนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับห้องสมุดเคลื่อนที่ มีการจัดโครงการหลายโครงการที่เข้าข่ายห้องสมุดเคลื่อนที่
การดำเนินงานห้องสมุดเคลื่อนที่จะประสบผลสำเร็จได้นั้น หน่วยงานที่ดำเนินการ ควรประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งกลุ่มบุคคลหรือบุคคลที่เป็นผู้นำชุมชน เช่น พระ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น สำหรับการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานเอกชน อาจเป็นการขอรับการสนับสนุนพาหนะ วัสดุอุปกรณ์และงบประมาณในการดำเนินงาน
การจัดกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่ เป็นการจัดบริการโดยใช้แนวคิดทั้งงานห้องสมุดและศูนย์การเรียน ซึ่งอาจจัดการเรียนการสอนหลักสูตรสั้นๆ ร่วมไปกับงานบริการพื้นฐานของห้องสมุด เช่น บริการการอ่าน บริการยืม-คืน เป็นต้น นอกจากนี้ อาจเป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้บริการในการออกให้บริการห้องสมุดเคลื่อนที่แต่ละครั้งด้วย
ห้องสมุดเคลื่อนที่นับเป็นรูปแบบหนึ่งของกาารบริการความรู้สู่ชุมชน ที่มีความสำคัญในด้านต่างๆ เป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง และส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตแก่ประชาชน เพื่อพัฒนาตนเอง สังคมประเทศชาติต่อไป ทั้งนี้เพราะห้องสมุดเคลื่อนที่มีลักษณะเคลื่อนย้ายความรู้ไปสู่พื้นที่ต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวศึกษาสมัยใหม่ของรัฐ โดยเห็นได้จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หมวดที่ 4 มาตราที่ 25 ระบุ ไว้ว่า “ รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์กีฬาและนันทนาการ และแหล่งเรียนรู้อื่นอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ” (สำนักคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ 2542 : 14)
เข้าชม : 2303 |