ขิง สรรพคุณและประโยชน์ของขิง 65 ข้อ !
ขิง ชื่อสามัญ Ginger (จิน''เจอะ)
ขิง ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber officinale Roscoe จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)
ขิงจัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกายของเรา เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ธาตุเหล็ก ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส แถมยังมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และเส้นใยจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งประโยชน์ของขิงนั้น เราสามารถนำมาใช้ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นราก เหง้า ต้น ใบ ดอก แก่น และผลก็ได้ทั้งนั้น
ประโยชน์ของขิง
1. ขิงจัดว่าเป็นยาอายุวัฒนะชั้นยอด
2. มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระเป็นจำนวนมาก ช่วยชะลอความแก่และชะลอการเกิดริ้วรอย
3. มีส่วนช่วยในการป้องกัน ต่อต้านการเกิดโรคมะเร็ง ต่อต้านการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
4. ช่วยลดผลข้างเคียงจากสารเคมีที่ใช้ในการรักษามะเร็ง ดังนั้นควรรับประทานขิงควบคู่ไปกับการรักษามะเร็งจะเป็นผลดี
5. ขิงมีฤทธิ์อุ่น ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น และช่วยในการขับเหงื่อ
6. ช่วยแก้อาการร้อนใน ด้วยการใช้ลำต้นสด ๆ นำมาทุบให้แหลกประมาณ 1 กำมือ แล้วต้มกับน้ำดื่ม
7. ช่วยลดความอ้วน ลดระดับไขมัน คอเลสเตอรอล ด้วยการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากลำไส้ แล้วปล่อยให้ร่างกายกำจัดออกทางอุจจาระ
8. ช่วยรักษาอาการปวดศีรษะและไมเกรน ด้วยการรับประทานน้ำขิงบ่อย ๆ
9. ช่วยลดความอยากของผู้ติดยาเสพติดลงได้
10. แก้ตานขโมย ด้วยการใช้ขิง ใบกะเพรา พริกไทย ไพล มาบดผสมกันแล้วนำมารับประทาน
11. ช่วยรักษาโรคความดันโลหิต ด้วยการนำขิงสดมาฝานต้มกับน้ำดื่ม
12. ช่วยบำรุงหัวใจของคุณให้แข็งแรง
13. ช่วยบรรเทาอาการของโรคประสาท ซึ่งทำให้จิตใจขุ่นมัว (ดอก)
14. ช่วยฟื้นฟูร่างการสำหรับมารดาหลังคลอดบุตร ด้วยการรับประทานไก่ผัดขิง
15. มีส่วนช่วยให้เจริญอาหาร (ราก, เหง้า) ด้วยการใช้เหง้าสดประมาณ 1 องคุลีนำมาต้มกับน้ำดื่ม ก็จะได้เป็นยาขมเจริญอาหาร
16. ใช้กินเพื่อบำรุงเป็นยาธาตุ บำรุงธาตุไฟ (เหง้า, ดอก)
17. ใช้บำรุงน้ำนมของมารดา (ผล)
18. ช่วยทำให้นอนหลับได้อย่างสบาย
19. การรับประทานขิงจะช่วยทำให้เลือดแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดได้ช้าลง
20. ใช้แก้ไข้ (ผล) ด้วยการนำขิงสดมาคั้นเป็นน้ำให้ได้ประมาณครึ่งถ้วย แล้วผสมกับน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา นำมาต้มกับน้ำ 2 ถ้วย แล้วนำมาดื่มวันละ 3 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการได้
21. ช่วยแก้หวัด บรรเทาอาการไอ บรรเทาหวัดจับเสมหะ ด้วยการใช้ขิงสดฝนกับน้ำมะนาวใส่เกลือนิดหน่อย
22. ไอน้ำหอมระเหยจากน้ำขิงช่วยทำลายไวรัสหวัดในทางเดินหายใจได้
23. แก้ลม (ราก)
24. ในผู้ป่วยที่มีอาการเมายาสลบหลังผ่าตัด น้ำขิงช่วยแก้เมาได้
25. ช่วยแก้อาการเมารถ เมาเรือได้เป็นอย่างดี ด้วยการใช้ขิงสดนำมาตำให้แหลก คั้นเอาเฉพาะน้ำดื่ม (ไม่ต้องดื่มน้ำตาม)
26. ช่วยแก้ปัญหาผมร่วง หัวล้าน ด้วยการนำเหง้าสดไปผิงไฟจนอุ่น แล้วนำมาตำให้แหลก นำมาพอกบริเวณที่มีผมร่วง วันละ 2 ครั้งจนอาการดีขึ้น หรืออีกวิธีก็คือคั้นเอาเฉพาะน้ำขิงมาผสมกับน้ำมันมะกอกแล้วนำมาหมักผม นวดให้ทั่วศีรษะประมาณ 30 นาทีก็ช่วยลดปัญหาผมร่วงได้เหมือนกัน แถมยังช่วยให้ผมสวย แข็งแรง มีความนุ่มลื่น ไม่ขาดง่ายอีกด้วย
27. ช่วยบำรุงสายตา รักษาโรคเกี่ยวกับตา และใช้แก้อาการตาฟาง (ผล, ใบ)
28. ช่วยรักษาอาการตาแฉะ (ดอก)
29. ช่วยแก้โรคกำเดา (ใบ)
30. ใช้แก้อาการคอแห้ง เจ็บคอ (ผล)
31. ใช้รักษาอาการปากคอเปื่อย ท้องผูก (เหง้า,ดอก)
32. ช่วยรักษาอาการปวดฟัน ด้วยการนำขิงแก่มาทุบให้ละเอียดคั่วกับน้ำสารส้มจนเกรียม แล้วบดจนเป็นผง จากนั้นนำมาพอกบริเวณฟันที่ปวด
33. แก้เสมหะ เสมหะขาวเหลวปริมาณมากมีฟอง (ผล, ราก)
34. ช่วยรักษาภาวะน้ำลายมาก อาเจียนเป็นน้ำใส
35. ช่วยลดกลิ่นปาก แก้อาการปากเหม็น ด้วยการนำขิงมาคั้นผสมน้ำอุ่นและเกลือเล็กน้อย นำมาอมบ้วนปาก ช่วยฆ่าเชื้อโรคในปากได้อีกด้วย
36. ช่วยบำรุงรักษาฟันและป้องกันการเกิดฟันผุ
37. ช่วยกำจัดกลิ่นรักแร้ ด้วยการใช้เหง้าขิงแก่นำมาทุบให้แหลก แล้วนำมาคั้นเอาน้ำมาทารักแร้เป็นประจำ จะช่วยกำจัดกลิ่นได้
38. ช่วยแก้อาการสะอึก ด้วยการใช้ขิงสดตำจนแหลก คั้นเอาเฉพาะน้ำผสมกับน้ำผึ้งเล็กน้อย คนจนเข้ากันแล้วนำมาดื่ม
39. ช่วยรักษาโรคบิด (ผล, ราก, ดอก) ด้วยการใช้ขิงสดประมาณ 75 กรัม ผสมกับน้ำตาลแดง นำมาตำจนเข้ากัน แล้วรับประทาน 3 มื้อต่อวัน
40. ช่วยแก้อาการอาเจียน (เหง้า, ผล) ด้วยการนำขิงสดประมาณ 5 กรัมหรือขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ นำมาทุบให้แตกแล้วต้มกับน้ำดื่ม
41. ช่วยลดการคลื่นไส้อาเจียนจากการแพ้ท้อง (สำหรับหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานบ่อยมากจนเกินไป)
42. แก้อาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง ขับลมในลำไส้ (ผล, ราก, ใบ) ด้วยการนำขิงแก่มาทุบพอแหลก เทน้ำเดือดลงไปครึ่งแก้ว แล้วปิดฝาตั้งทิ้งไว้ประมาณ 5 นาทีแล้วนำน้ำมาดื่มระหว่างมื้ออาหาร
43. ช่วยรักษาอาการปวดในช่วงก่อนหรือหลังประจำเดือน ด้วยการนำขิงแก่ที่แห้งแล้วประมาณ 30 กรัมมาต้มกับน้ำดื่มบ่อย ๆ
44. ช่วยในการย่อยอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ดอก)
45. ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการจุกเสียด (เหง้า)
46. ช่วยในการขับถ่าย และช่วยในเรื่องของระบบลำไส้ให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ
47. ช่วยฆ่าพยาธิ พยาธิกลมจุกลำไส้ (ใบ) ใช้น้ำขิงผสมกับน้ำผึ้งแล้วนำมาดื่ม
48. ช่วยแก้อาการขัดปัสสาวะ (ดอก, ใบ)
49. ช่วยรักษาปัสสาวะรดที่นอนในผู้ป่วยที่มีภาวะหยางพร่อง มีความเย็นในร่างกายเป็นเหตุ
50. ช่วยรักษาโรคนิ่ว (ใบ, ดอก)
51. ช่วยแก้อาการฟกช้ำ (ใบ)
52. ช่วยรักษาอาการปวดข้อตามร่างกายด้วยการรับประทานขิงสดเป็นประจำ
53. มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย
54. ใช้เป็นยาแก้คัน ด้วยการนำแก่นของขิงฝนทำเป็นยา (แก่น)
55. แก้ปัญหาหนังที่มือลอกเป็นขุย ด้วยการใช้เหง้าสดมาหั่นเป็นแผ่น แล้วนำมาแช่เหล้า 1 ถ้วยชา ทิ้งไว้ 1 วัน แล้วนำแผ่นขิงมาถูบริเวณดังกล่าววันละ 2 ครั้ง
56. ช่วยรักษาแผลเริมบริเวณหลัง ด้วยการใช้เหง้า 1 หัว นำมาเผาผิวนอกจนเป็นถ่าน คอยปาดถ่านที่ผิวนอกออกไปเรื่อย ๆ แล้วนำผงที่ได้มาผสมกับน้ำดีหมูนำมาทาบริเวณที่เป็นแผล
57. หากถูกแมงมุมกัด ใช้ขิงสดฝานบาง ๆ นำมาวางทับบริเวณที่ถูกกัดจะช่วยบรรเทาอาการได้
58. ช่วยรักษาอาการมือเท้าเย็น กลัวหนาว เย็นท้อง เป็นต้น
59. ช่วยป้องกันการแพ้อาหารทะเลจนเกิดผื่นคัน ลมพิษ หรืออาหารช็อก
60. ช่วยรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการนำขิงสดมาตำให้แหลก แล้วนำกากมาพอกบริเวณแผล เพื่อป้องกันการอักเสบและการเกิดหนอง
61. ในขิงมีสารที่สามารถใช้กันบูดกันหืนในน้ำมันได้
62. ในด้านการประกอบอาหารนั้น ขิงสามารถช่วยเพิ่มรสชาติอาหารได้เป็นอย่างดี และสามารถช่วยดับกลิ่นคาวของอาหารได้ดีอีกด้วย
63. ในด้านความงามนั้นมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของขิงอีกด้วย
64. ช่วยให้ผิวพรรณเรียบเนียนยิ่งขึ้น ด้วยการนำขิงสดมาขูดเป็นฝอยแล้วนำมานวดบริเวณต้นขา ก้น หรือบริเวณที่มีเซลลูไลต์จะช่วยลดความขรุขระของผิวได้อีกด้วย
65. ผลิตภัณฑ์จากขิงนั้นนำมาแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น บัวลอยน้ำขิง ขิงแช่อิ่ม ขิงเชื่อม ขิงกระป๋อง ขิงแคปซูล น้ำขิงมะนาว เป็นต้น
วิธีทำน้ำขิง
1. วิธีทำน้ำขิงขั้นตอนแรกให้เตรียมส่วนผสมดังนี้ ขิงแก่ 1 กิโลกรัม / น้ำตาลทรายแดง 1 ถ้วยตวง / น้ำสะอาด 3 ลิตร
2. นำขิงที่ได้ไปล้างให้สะอาด นำมาทุบให้แตก แล้วนำมาใส่ในหม้อต้ม เติมน้ำสะอาดลงไป ยกขึ้นตั้งไฟ
3. เมื่อต้มจนน้ำเดือดแล้วค่อยเบาไฟลง เคี่ยวประมาณ 20 นาทีจนน้ำขิงละลายออกมาจนหมด (น้ำจะเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ) แล้วยกลงจากเตา
4. เสร็จแล้วให้ตักน้ำขิงใส่แก้ว เติมน้ำตาลทรายแดงลงไป 1-2 ช้อนชา (ตามความต้องการ) แล้วคนจนเข้ากัน
5. เรียบร้อยแล้วก็สามารถนำมาดื่มได้ โดยนำมาดื่มแบบร้อน ๆ ได้เลย
6. หรือจะดื่มแบบเย็น ๆ ด้วยการใส่น้ำแข็งลงไปก็ได้เช่นกัน แต่ควรเติมน้ำตาลมากกว่า 2-3 เท่า (จะช่วยไม่ให้รสจืดมากเกินไป เพราะมีน้ำแข็งผสมอยู่นั่นเอง)
7. น้ำขิงที่คั้นมานั้นไม่ควรใช้ปริมาณที่เข้มข้นจนเกินไป เพราะจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เพราะจะไประงับการบีบตัวของลำไส้ จนทำให้ลำไส้หยุดการบีบตัว ดังนั้นควรคั้นในปริมาณน้อย ๆ หรือดื่มจนชินก่อน
เรามักจะรู้จักคุ้นเคยกับขิงว่าเป็นอาหารที่นิยมนำมาใช้ในการประกอบอาหารและทำเครื่องดื่ม ซึ่งจริง ๆ แล้วขิงจัดเป็นสมุนไพรไทยที่ช่วยการบำบัดรักษาโรคต่าง ๆได้สารพัด ถือว่าเป็นตัวช่วยในการรักษาโรคได้เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ควรจะหวังพึ่งสรรพคุณของขิงเพียงอย่างเดียวในการบำบัดรักษาโรค ควรจะทำอย่างอื่นหรือดูแลสุขภาพของเราร่วมด้วยจะได้ผลดีนักแล
เรามักนิยมใช้ขิงแก่ เพราะยิ่งแก่จะยิ่งให้ความเผ็ดร้อน จึงมีสรรพคุณทางยาที่มากกว่าขิงอ่อน และยังมีใยอาหารมากขึ้นตามไปด้วย แต่เนื่องจากขิงมีรสเผ็ด มีคุณสมบัติอุ่น จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีความร้อนภายในร่างกายอยู่แล้ว เช่นผู้ที่เหงื่อออกมาก เหงื่อออกเวลากลางคืน ตาแดง หรือมีไฟในตัวมากกว่าปกติ แต่ถ้าจะรับประทานควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
เข้าชม : 383
|