ประวัติความเป็นมา
วัดทุ่งข่า ตั้งเมื่อใดไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิฐานว่าในสมัยพระยาวิเชียรคีรีภักดีสงคราม(ชุม) เจ้าเมืองสงขลา ซึ่งมีพระภิกษุองค์หนึ่งมีนามว่าหลวงพ่อเอียดได้ธุดงค์บำเพ็ญศีลจนมาถึงวัดร้างแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บ้านทุ่งข่า หมู่ที่ 8 ตำบลท่าประดู่ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา จึงได้ปฎิสังขรณ์วัดและที่พักสงฆ์ แต่ไม่ปรากฏว่าชื่ออะไร คงเรียกกันตามหมู่บ้านว่า “วัดทุ่งข่า”
มีเรื่องเล่าว่า พระพิฆเนศหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าพระงวง เนื่องจากเรียกตามเศียรของเทวรูป ซึ่งมีลักษณะเป็นเศียรช้างที่มีงวง เป็นเรื่องเล่าปรัมปราว่า มีผู้อพยพหนีมาจากการถูกกดขี่ข่มเหงในการใช้แรงงานก่อสร้างปราสาทหิน จึงเดินทางหนีโดยเรือสำเภาสินค้า จนมาถึงท่าเทียบเรือสงขลา จึงได้พำนักพักพิงอาศัยวางถิ่นฐานที่เมืองสงขลา ในขณะอพยพหนีกันมานั้นได้นำสิ่งสักการะบูชาติดตัวมาด้วย นั่นก็คือ พระพิฆเนศหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าพระงวง ซึ่งต่อมาได้นำพระพิฆเนศองค์ดังกล่าวถวายแก่พระยาวิเชียรคีรีภักดีสงคราม (ชุม) เจ้าเมืองสงขลา และขณะนั้นพระยาวิเชียรคีรีภักดีสงคราม (ชุม) เจ้าเมืองสงขลา เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเอียด จึงได้นำพระพิฆเนศถวายแก่หลวงพ่อเอียด เพื่อให้ศาสนิกชน บุคคลทั่วไป ทุกสาขาอาชีพได้สักการะบูชานับถือพระองค์ โดยมีความเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าอันจะอำนวยพรประสิทธิ์ประสาทผลในด้านต่างๆ และชาวบ้านมีความเชื่อว่าเกี่ยวกับการสาบถสาบานต่อพระพิฆเนศหรือพระงวงนั้น โดยมีคำสาปแช่ง ที่เรียกว่า เดน
ในช่วงประเพณีสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันตรงวันขึ้นปีใหม่ไทยมาตั้งแต่โบราณ ทางเจ้าอาวาสวัดทุ่งข่าและบุคคลทั่วไปมีการประกอบพิธีทางศาสนา จึงได้อัญเชิญพระพิฆเนศวัดทุ่งข่าสรงน้ำเป็นประจำทุกๆปี
เข้าชม : 1741
|