พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พระราชสมภพ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 — สวรรคต 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559) เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่เก้าแห่งราชวงศ์จักรี เสด็จสู่พระราชสมบัติตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 เป็นพระมหากษัตริย์ผู้เสวยราชย์ยาวนานที่สุดในประเทศไทย[2]
พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และได้ทรงหยุดยั้งการกบฏ เช่น ในคราวปี 2524 และปี 2528 กระนั้น ก็ได้ทรงแต่งตั้งหัวหน้าคณะยึดอำนาจหลายคณะ เช่น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงพุทธทศวรรษที่ 2500 กับพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ในช่วงปลายพุทธทศวรรษที่ 2540 ตลอดรัชกาลของพระองค์ เกิดรัฐประหารโดยกองทัพสิบกว่าครั้ง รัฐธรรมนูญเกือบ 20 ฉบับ และนายกรัฐมนตรีเกือบ 30 คน
ประชาชนชาวไทยจำนวนมากเคารพพระองค์[3][4][5] อนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะและผู้ใดจะละเมิดมิได้ ส่วนประมวลกฎหมายอาญาว่า การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์เป็นความผิดอาญา[5] คณะรัฐมนตรีหลายชุดที่ได้รับการเลือกตั้งมาก็ถูกคณะทหารล้มล้างไปด้วยข้อกล่าวหาว่านักการเมืองผู้ใหญ่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[6][7] กระนั้น พระองค์เองได้ตรัสเมื่อปี 2548 ว่า สาธารณชนพึงวิพากษ์วิจารณ์พระองค์ได้[8]
พระองค์ทรงเป็นที่สรรเสริญในประเทศไทยเกี่ยวกับพระราชดำริในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โคฟี แอนนัน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์แด่พระองค์[9] กับทั้งพระองค์ยังทรงเป็นเจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ งานพระราชนิพนธ์ และงานดนตรีจำนวนหนึ่งด้วย[10] ด้านสินทรัพย์ของพระองค์นิตยสารฟอบส์จัดอันดับให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีพระราชทรัพย์มากที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2556[11] เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 พระองค์มีพระราชทรัพย์ 30,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ (ดูหมายเหตุด้านล่าง)[12] สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นใช้สินทรัพย์เพื่อสวัสดิการสาธารณะ เช่น เพื่อพัฒนาเยาวชน แต่ได้รับการยกเว้นมิต้องจ่ายภาษีและให้เปิดเผยการเงินต่อพระมหากษัตริย์แต่พระองค์เดียว[13] ขณะที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็ได้ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ไปในโครงการพัฒนาประเทศไทยหลายต่อหลายโครงการ โดยเฉพาะในทางเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การส่งเสริมอาชีพ ทรัพยากรน้ำ สวัสดิการทางคมนาคม และสวัสดิการสาธารณะ[14]
นับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 พระองค์แปรพระราชฐาน ไป โรงพยาบาลศิริราช อันเนื่องมาจากพระโรคไข้หวัดและพระปัปผาสะอักเสบ และได้เข้าประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตลอดมา จนกระทั่งวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสวรรคตเมื่อเวลา 15.52 นาฬิกา สิริพระชนมายุ 88 พรรษา 287 วัน[15]
เข้าชม : 254
|