เมื่อสมัยก่อนการคมนาคมจากอำเภอรัตภูมิไปจังหวัดสตูล เส้นทางสัญจรไปมาลำบาก ต้องเดินทางโดยเกวียนหรือเดินเท้า มีสัตว์ป่าดุร้ายและชุกชุมเป็นอุปสรรคในการเดินทาง ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เสด็จประพาสจังหวัดสตูลทรงเสด็จผ่านบ้านท่าชะมวง ซึ่งมี นายสัน ฉางหลาง เป็นกำนันในสมัยนั้น ได้ทราบข่าวว่าขบวนเสด็จของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะผ่านบ้านท่าชะมวง นายสัน ฉางหลาง เห็นว่าขบวนเสด็จไปจังหวัดสตูลนั้นจะมืดค่ำเสียก่อน ระหว่างการเดินทางจะเกิดอันตราย นายสัน ฉางหลาง จึงขอให้ขบวนเสด็จประทับแรม ที่อำเภอรัตภูมิหนึ่งคืน แล้วจึงเสด็จต่อในวันรุ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าการกระทำของนายสัน ฉางหลาง เป็นบุคคลที่กล้าหาญ และกล้าแสดงออก จึงทรงแต่งตั้ง นายสัน ฉางหลาง เป็น “ท่านขุนท่าชะมวง” ตั้งแต่นั้นมา
นอกจากนี้ บ้านท่าชะมวง ยังมีต้นมวงใหญ่อยู่ต้นหนึ่งที่ท่าน้ำสะพานท่านขุนท่าชะมวง ปัจจุบันต้นมวงต้นนั้นได้ตายไปแล้ว ซึ่งสมัยก่อนผู้คนที่อาศัยอยู่สองฝั่งคลองรัตภูมิ จะสัญจรไปมาก็ต้องผ่านท่าน้ำแห่งนี้เพียงแห่งเดียว โดยการว่ายน้ำข้าม หรือไม่ก็พายเรือข้ามไปมา หลังจาก นายสัน ฉางหลาง ได้เป็นท่านขุนท่าชะมวง แล้วจึงได้สร้างสะพานขึ้นที่ท่าน้ำแห่งนี้ เรียกว่า “สะพานท่านขุนท่าชะมวง” และยังได้เสนอ ให้ทางราชการยกฐานะบ้านท่าชะมวงเป็นตำบล ท่าชะมวง จนตราบเท่าปัจจุบัน
ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอยู่ 2 ศาสนา คือ
ศาสนาพุทธ ประมาณ 60%
ศาสนาอิสลาม ประมาณ 40%ทิศเหนือ ติดกับ จังหวัดพัทลุง
ทิศใต้ ติดกับ ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ และ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ทิศตะวันออก ติดกับ อบต.กำแพงเพชร , อบต.คูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
ทิศตะวันตก ติดกับ อบต.เขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
ภูมิประเทศ สภาพพื้นที่ทางทิศตะวันตกส่วนใหญ่เป็นเนินเขา ทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นที่ราบ
ภูมิอากาศ ตำบลท่าชะมวง ตั้งอยู่ในเขตอิทธิพลของมรสุมเมืองร้อน มีลมมรสุมพัดผ่านเป็นประจำทุกปี คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้มีฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือ
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือน กรกฎาคม ซึ่งจะเป็นช่วงที่ว่างของลมมรสุมจะเริ่มตั้งแต่หลังจากหมดลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อากาศจะเริ่มร้อนและอากาศจะมีอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายน
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงเดือนมกราคม
นายสวาท สังข์ทอง ผู้ให้สัมภาษณ์
ประวัติผู้ให้สัมภาษณ์
ชื่อ-สกุล นายสวาท สังข์ทอง
อายุ 54 ปี
คู่สมรส นางประคอง สังข์ทอง
ศาสนา พุทธ
ภูมิลำเนาเดิม อ.ระโนด จ.สงขลา
ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 10 / 7 หมู่ 3 ต.ท่าชะมวง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา 90180
ระดับการศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
อาชีพ หัตกรรมจักสาน (สุ่มไก่)
รายได้ 500 - 600 บาท / วัน
วัน - เวลาสัมภาษณ์ 26 มีนาคม 2553
นายสวาท สังข์ทอง ชาวบ้านหมู่ 3 ตำบลท่าชะมวง เป็นอีกผู้หนึ่งที่ยึดอาชีพหัตถกรรมเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ เป็นอาชีพหลักในการสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ลุงสวาทกล่าวว่า แต่เดิมตนเป็นคน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา แต่เนื่องจากต้องย้ายติดตามพ่อมาตั้งถิ่นฐานยังตำบลท่าชะมวง อำเภอรัตภูมิ ตั้งแต่เล็ก จึงทำให้ตนและครอบครัวกลายเป็นคนท่าชะมวงจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ลุงสวาทกล่าวว่า ตั้งแต่เล็กจนถึงปัจจุบันชีวิตของลุงสวาทสัมผัสอยู่กับการทำหัตถกรรมเครื่องจักสานจากไม้ไผ่มาเป็นเวลานาน ครอบครัวและเพื่อนบ้านในชุมชนท่าชะมวง (หมู่ 3) มีจำนวนมากที่ยึดอาชีพจักสานเป็นอาชีพหลัก เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่คนในชุมชนนิยมทำได้แก่ สุ่มไก่ ฝาสานไม้ไผ่ เป็นต้น แต่ที่นิยมทำส่วนมากจะเป็นสุมไก่ ลุงสวาทยังกล่าวอีกว่า อาชีพสานสุ่มไก่เป็นอาชีพหลักของครอบครัว ตนสามารถส่งเสียบุตรให้เรียนจนสำเร็จการศึกษาและเลี้ยงดูคนในครอบครัวด้วยรายได้จากการทำสุมไก่จำหน่าย ซึ่งจะมีคนทั้งในและนอกพื้นที่มารับซื้อโดยตรงที่บ้าน ลุงสวาทยังกล่าวอีกว่าวัตถุดิบที่สำคัญในการทำสุ่มไก่ คือไม้ไผ่ ส่วนใหญ่ครอบครัวของตนเองและเพื่อนบ้านจะรับซื้อไม้ไผ่มาจากจังหวัดสตูลและพัทลุง ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ละเดือนจะมีพ่อค้ามาส่งให้ถึงบ้าน โดยตกประมาณลำละ 20 บาท ไม้ไผ่ที่ดีจะเป็นไม้ไผ่ ลำขนาดปานกลาง สุ่มไก่ที่ทำจะมี 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่, ขนาดกลาง, และขนาดเล็ก ซึ่งแต่ละขนาดจะมีราคาจำหน่ายดังนี้ ขนาดเล็กมีราคาลูกละ 100 บาท ขนาดกลางมีราคาลูกละ 130 บาท และขนาดใหญ่มีราคาถึง 150 บาท ในการทำสุ่มไก่แต่ละลูกต้องใช้ไม้ไผ่ 2 ลำ ซึ่งราคาต้นทุนในการผลิตตกลูกละประมาณ 40 บาท ตนสามารถทำสุ่มไก่ได้วันละ 5-6 ลูก ซึ่งมีรายได้ประมาณ 500-600 บาท /วัน สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างดี ลุงสวาทยังกล่าวอีกว่าตนมีอาชีพสานสุ่มไก่เป็นอาชีพหลัก ไม่มีอาชีพเสริมอื่นใด แต่เนื่องจากลุงสวาทมีความอดทนและตั้งใจในการทำงาน มีความขยันหมั่นเพียร จึงทำให้มีทักษะความชำนาญในการสานสุ่มไก่ จึงทำให้ผลงานการสานสุ่มไก่ของลุงสวาทเป็นที่ติดใจของลูกค้าทั้งในและนอกพื้นที่
ไม้ไผ่สีสุก
ไม้ไผ่สีสุก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bambusa blumeana Schult.
วงศ์ GRAMINEAE-BAMBUSOIDEAE Bambusa blumeana Schult.
วงศ์ GRAMINEAE-BAMBUSOIDEAE
เป็นไม้ไผ่ประเภทมีหนาม ความยาวลำต้นสูง 10 - 18 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 - 12 เซนติเมตร แข็ง ผิวเรียบเป็นมัน ข้อไม่พองออกมา กิ่งมากแตกตั้งฉากกับลำต้น หนามโค้งออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 อัน อันกลางยาวกว่าเพื่อน ลำมีรูเล็กเนื้อหนา ใบมีจำนวน 5 - 6 ใบ ที่ปลายกิ่ง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มกว้าง ๆ หรือตัดตรง แผ่นใบกว้าง 0.8 - 2 เซนติเมตร ยาว 10 - 20 เซนติเมตร ใต้ใบมีสีเขียวอมเหลือง เส้นลายใบมี 5 - 9 คู่ ก้านใบสั้น ขอบใบสากกลีบใบเล็กมีขน
นิเวศวิทยา เชื่อกันว่าเป็นไม้ดั้งเดิมในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก หรือหมู่เกาะแปซิฟิกตอนใต้ ในประเทศไทย มักจะขึ้นอยู่ตามที่ราบลุ่มริมห้วย แม่น้ำ และมักปลูกรอบ ๆ บ้านในชนบท
ขยายพันธุ์ ปักชำ ใช้ท่อนไม้ไผ่มาตัดทอนเป็นท่อน ๆ ให้ติดปล้อง 1 ปล้อง (ข้อตา) นำมาปักไว้ในวัสดุชำ เอียงประมาณ 45 องศา เรียงเป็นแถวเป็นแนวเดียวกันเพื่อสะดวกในการดูแลรักษา เติมน้ำลงในกระบอกไม้ไผ่ให้เต็ม ประมาณ 4 สัปดาห์ หน่อจะแตกออกจากตาไม้ไผ่ และรากจะงอกออกจากปุ่มใต้ตา หรือถ้าตัดทอนท่อนไม้ไผ่ให้ตัดข้อต่อ 2 ข้อ แล้วเจาะตรงกลางระหว่างข้อตา สำหรับเติมน้ำลงไปในปล้อง นำไปวางนอนในวัสดุชำแนวราบก็ได้เช่นกันประโยชน์ สมัยก่อนมักปลูกไว้รอบบ้านเป็นรั้วกันขโมย กันลม หน่อเมื่ออยู่ใต้ดินทำอาหารได้มีรสสี เมื่อโผล่พ้นดินประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร มักเอาไปทำหน่อไม้ดอง จะให้รสเปรี้ยว สีขาว และเก็บได้นาน โดยไม่เปื่อยเหมือนหน่อไม้ชนิดอื่น เนื้อไม้หนาแข็งแรง ใช้สร้างบ้านในชนบทได้ทนทาน ทำเครื่องจักสาน เครื่องใช้ในการประมง ใช้ในการทำนั่งร้านก่อสร้าง ส่วนโคนนิยมใช้ทำไม้คานหาบและใช้ทำกระดาษให้เนื้อเยื่อสูง
วัสดุและอุปกรณ์ในการทำสุ่มไก่
- ไม้ไผ่
- เลื่อย
- เหล็ก
- มีด
- แฉก (สำหรับผ่าไม้ไผ่)
- ท่อนไม้ (สำหรับรองไม้ไผ่ขณะเหลา )
ขั้นตอนการทำสุ่มไก่มีดังนี้
1.คัดเลือกไม้ไผ่ลำขนาดกลาง และเตรียมวัสดุอุปกรณ์อื่นๆสำหรับทำสุ่มไก่ให้พร้อม
2. นำเลื่อยมาตัดไม้ไผ่ให้ได้ขนาดท่อนละประมาณ 2 เมตร
3. นำไม้ไผ่ที่ได้จากการเลื่อยมาผ่าให้เป็นซี่ โดยใช้แฉกในการผ่าซี่
4. นำไม้ไผ่ที่ผ่าออกเป็นซี่ไว้แล้ว มาเหลาเพื่อป้องกันการหักของไม้ไผ่ สามารถที่จะดัดงอซี่ไม้ไผ่ได้ตามต้องการขณะสานและป้องกันการถูกเสี้ยนไม้ไผ่บาดมือ
5.นำไม้ไผ่ที่ผ่านการเหลามาจักขึ้นรูปให้ได้ตามรูปทรงและขนาดที่ต้องการดังรูป
6.ดัดไม้ไผ่ที่ขึ้นรูปไว้แล้วให้มีลักษณะเป็นสุ่มไก่ดังรูป
7.นำไม้ไผ่ซี่อื่นๆที่เหลือมาประกอบกันตามขั้นตอน โดยใช้ไม้ไผ่ที่ผ่าเป็นซี่มาสานสลับซี่ขึ้นลง และประกอบตามวิธีการจนได้เป็นรูปสุ่มไก่ของแต่ละขนาด ดังรูป
8. เสร็จสมบูรณ์

นายสวาท สังข์ทอง หมู่ที่ 3 ต.ท่าชะม่วง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา
เข้าชม : 2765
|