เรียนรู้ กลุ่มนาข้าวอินทรีย์บ้านคูหาใน
ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
โครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี: หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงรัตภูมิ
โครงการฯ เริ่มต้นในปี 2558 โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ ผ่านทางคลินิกเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ ทุ่งหว้า ภาควิชาพัฒนาการเกษตร คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นหัวหน้าโครงการ มีคณะทำงานโครงการประกอบด้วย 1) นายธนศักดิ์ สุขสงค์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์สาธิตฝึกอาชีพเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าชะมวง อ.รัตภูมิ จ.สงขลา)
2) นายวันชัย ธรรมสัจการ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 3) นางสาวศศิธร คงทอง คลีนิคเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 4) นางปรานี ทองรักษ์ ประธานกลุ่มนาข้าวอินทรีย์ บ้านคูหาใน และ อสม. หมู่ที่ 3 ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา 5) นายชาญ เพชรบูรณ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา 6) นางพัทนันท์ แก้วสุริยันต์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
การดำเนินการโครงการฯ เน้นการพัฒนากลุ่มนาข้าวอินทรีย์บ้านคูหาใน หมู่ที่ 3 ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ซึ่งได้มีการก่อร่างสร้างตัวของกลุ่มมาบ้างแล้ว จากที่เคยได้รับการสนับสนุนโดยหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ เช่น ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี สำนักงานเกษตรอำเภอรัตภูมิ การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอรัตภูมิ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอรัตภูมิ เป็นต้น ประกอบกับกลุ่มมีแกนนำที่เป็นที่รู้จักของหน่วยงานต่างๆ คือ นางปรานี ทองรักษ์ รวมทั้งจากการที่โครงการฯ ได้มีการจัดทำเวทีระดมความคิดเห็นกับสมาชิกกลุ่มซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 59 คน จำนวน ไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ทำให้โครงการฯ มองเห็นศักยภาพในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มไปสู่ความเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้าน การผลิต แปรรูปและระบบการตลาดข้าวอินทรีย์หรือผลผลิตที่เพิ่มมูลค่าจากข้าวอินทรีย์ภายใต้แบรนด์ของชุมชนเองอย่างครบวงจร การเป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์เรียนรู้ให้กับชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์ข้าวของชุมชน การจัดการวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น จึงได้คัดเลือกกลุ่มนาข้าวอินทรีย์บ้านคูหาใน หมู่ที่ 3 ตำบลคูหาใต้ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการที่ชื่อว่า “โครงการหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี: หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงรัตภูมิ”
ในปัจจุบัน นอกจากกลุ่มเริ่มมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น ยังได้มีการพัฒนาการทำนาอินทรีย์ตามระบบคิดของกลุ่ม การแปรรูปผลผลิตในรูปแบบต่างๆทั้งในแง่ข้าวสารบรรจุภัณฑ์ ขนมที่ผลิตจากข้าวอินทรีย์ของกลุ่มเอง รวมทั้งมีแบรนด์ ที่เป็นของกลุ่มแล้ว กลุ่มยังมีการจัดการระบบข้อมูลเกษตรกรและผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ดังที่เห็นใน เวปไซต์นี้ ด้วย นอกจากการทำนาแล้ว กลุ่มยังมีสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำนาอินทรีย์ ในลักษณะที่เรียกว่า “การทำนาเพื่อกินไข่” นั่นคือไข่เป็ดที่ได้รับจากการเลี้ยงเป็ดบริเวณพื้นที่นาอินทรีย์นั่นเอง อนึ่ง การพัฒนาการทำนาอินทรีย์ของกลุ่มยังทำให้ระบบนิเวศมีการฟื้นฟูขึ้นด้วย สังเกตจากจำนวนไส้เดือน และ สัตว์น้ำจืดในพื้นที่นา และ แหล่งน้ำที่เพิ่มขึ้น
เข้าชม : 635 |