ภูมิปัญญาท้องถิ่นภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้
ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันเกิดจากการพัฒนา การปรับตัว ปรับวิถีชีวิตของคนในภาคใต้ที่ประกอบด้วยคนไทยและอีกหลายชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันในคาบสมุทรมีคนมาเลย์ คนจีน และคนที่มาจากอินเดียฝ่ายใต้ แต่กลุ่มชนที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ไทยสยาม โดยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นแหลมทอง มีทะเลกว้างใหญ่ขนาบอยู่ทั้งสองข้าง มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งในทะเล และบนแผ่นดิน อันล้วนเป็นเขตมรสุมใกล้เส้นศูนย์สูตร มีผู้คนหลายชาติ หลายภาษา หลายวัฒนธรรมเดินทางมาทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อมาตั้งหลักแหล่ง แสวงหาโภคทรัพย์และทำมาค้าขายเป็นเวลาติดต่อกันยาวนานกว่าพันปี มีการตั้งถิ่นฐานทำมาหากินกันหลายลักษณะ ทั้งบริเวณชายทะเล ที่ราบระหว่างชายทะเลกับเทือกเขา หลังเขา และตามสายน้ำน้อยใหญ่จำนวนมากที่ไหลจากเทือกเขาลงสู่ทะเลทั้งสองด้าน ภูมิปัญญาของภาคใต้จึงมีความหลากหลาย ทั้งที่ได้พัฒนาการจากการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ หรือคนต่างถิ่นที่พกพามาจากแหล่งอารยธรรมต่างๆ จนหลอมรวมกัน เกิดเป็นภูมิปัญญาประจำถิ่น ซึ่งมีอยู่ในหลายลักษณะ คือ
- ภูมิปัญญาในด้านการดำรงชีพ
- ภูมิปัญญาในด้านความสัมพันธ์และการพึ่งพา
- ภูมิปัญญาในด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน
-ภูมิปัญญาในด้านสมุนไพร
-ภูมิปัญญาในด้านทัศนะคติ
- ภูมิปัญญาในด้านการปลูกฝังคุณธรรม
ภูมิปัญญาและประเพณีของภาคใต้
มโนราห์
การแสดงโนรา เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร่ายรำ บทร้องประกอบดนตรี บทเจรจา และบางทีก็มีการแสดงเรื่องด้วย เครื่องดนตรีของโนราคล้ายกับเครื่องดนตรีของหนังตะลุง คือมี ทับ กลอง ปี่ โหม่ง ฉิ่ง และแตระ เครื่องดนตรีเหล่านี้จะใช้ประกอบจังหวะและเสียงร้องให้เข้ากันกับการรำ
การแสดงจะเริ่มด้วยการโหมโรงและกาศครู ก่อนตัวแสดงจะออกมาร่ายรำหน้าเวที มีการกล่าวบทหน้าม่านที่เรียกว่า "กำพรัดหน้าม่าน" โดยใช้ลีลากลอนหนังตะลุง ต่อจากนั้นตัวแสดงแต่ละตัวจะออกมาร่ายรำ เสร็จแล้วเข้าไปนั่งที่พนักซึ่งแต่เดิมทำด้วยไม้ไผ่ แต่ปัจจุบันใช้เก้าอี้แทน ว่าบทร่ายแตระแล้วทำบท "สีโต ผันหน้า" โดยร้องบทและตีท่าตามบทนั้น ๆ หลังจากรำบทร่ายแตระเสร็จแล้ว ก็จะว่ากลอนสี่ กลอนหก กลอนแปด กล่าวกับผู้ชาย หรือว่าเรื่องอื่น ๆ โดยมีลูกคู่รับ แต่หากเป็นการแข่งโนราประชันโรง ก็จะมีวิธีการซับซ้อนกว่านี้โดยทั่วไปมักจะแสดงในงานเทศกาลนักขัตฤกษ์ งานมงคลทั่วไป หรืองานเฉลิมฉลองต่าง ๆ บางโอกาสก็แสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรมเพื่อแก้บนหรือ "แก้เหฺมฺรย" ในพิธีโรงครูของครอบครัวที่มีเชื้อสายตายายโนรา
โนราเป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ ซึ่งมีมาแต่โบราณ และเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย นิยมเล่นกันมากทั่วภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดพัทลุงนิยมเล่นโนราไม่แพ้หนังตะลุงบรมครูโนราที่ชาวภาคใต้และชาวพัทลุงยกย่อง และรู้จักเป็นอย่างดี คือ ขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่มเทวา) ก็เป็นชาวอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
ปัจจุบันแม้ว่าโนราไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างในอดีต แต่โนราก็เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่กลุ่มชนพื้นบ้านได้ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อสนองความต้องการของชีวิตและสังคม โนราจึงมีความผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านมาช้านาน ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านและความเป็นไปของสังคมไว้เกือบทุกแง่ทุกมุม เพราะนอกจากโนราจะมีบทบาทในฐานะที่เป็นสื่อบันเทิงแล้ว ยังมีบทบาทในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อของชาวบ้านอีกด้วย ฉะนั้นวิถีชีวิตของชาวบ้านจึงมีความเกี่ยวข้องกับโนราอย่างแยกไม่ออก
หนังตะลุง คือ ศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นอย่างหนึ่งของภาคใต้ เป็นการเล่าเรื่องราวที่ผูกร้อยเป็นนิยาย ดำเนินเรื่องด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้องเป็นสำเนียงท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าการ "ว่าบท" มีบทสนทนาแทรกเป็นระยะ และใช้การแสดงเงาบนจอผ้าเป็นสิ่งดึงดูดสายตาของผู้ชม ซึ่งการว่าบท การสนทนา และการแสดงเงานี้ 25นายหนังตะลุงเป็นคนแสดงเองทั้งหมด
หนังตะลุงเป็นมหรสพที่นิยมแพร่หลายอย่างยิ่งมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในยุคสมัยก่อนที่จะมี ไฟฟ้าใช้กันทั่วถึงทุก หมู่บ้านอย่างในปัจจุบัน หนังตะลุงแสดงได้ทั้งในงานบุญและ งานศพ ดังนั้นงานวัด งานศพ หรืองานเฉลิมฉลองที่สำคัญจึงมักมีหนังตะลุงมาแสดงให้ชมด้วยเสมอ
แต่เมื่อเวลาผ่านไป หนังตะลุงกลับกลายเป็นความบันเทิงที่ต้องจัดหามาในราคาที่ "แพงและยุ่งยากกว่า" เมื่อเทียบกับภาพยนต์ เพราะการจ้างหนังตะลุงมาแสดง เจ้าภาพต้องจัดทำโรงหนังเตรียมไว้ให้ และเพราะหนังตะลุงต้องใช้แรงงานคน (และฝีมือ) มากกว่าการฉายภาพยนต์ค่าจ้างต่อคืนจึงแพงกว่า ยุคที่การฉายภาพยนตร์เฟื่องฟู หนังตะลุงและการแสดงท้องถิ่นอื่น ๆ เช่นมโนราห์ รองแง็ง ฯลฯ ก็ซบเซาลง ยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุคที่ทุกบ้านมีโทรทัศน์ดู ละครโทรทัศน์จึงเป็นความบันเทิงราคาถูกและสะดวกสบาย ที่มาแย่งความสนใจไปจากศิลปะพื้นบ้านเสียเกือบหมด
ปัจจุบัน โครงการศิลปิลแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์และสืบทอดศิลปะการแสดงหนังตะลุงให้แก่อนุชนรุ่นหลัง เพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้ให้คงอยู่สืบไป
ประเพณีชักพระ บางท้องถิ่นเรียกว่า "ประเพณีลากพระ " เป็นประเพณีพื้นเมืองของชาวภาคใต้ ได้มีการสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย โดยสันนิษฐานว่าได้เกิดมีขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดีย มีพุทธตำนานเล่าขานสืบทอดกันมาว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงผนวชได้ 7 พรรษา และ พรรษาที่ 7 นั้นได้เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้นออกพรรษาแล้ว ยามเช้าของแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ได้เสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ ในการนี้พุทธบริษัททั้ง 4 ประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และ อุบาสิกา ซึ่งรอคอยพระพุทธองค์มาเป็นเวลานานถึง 3เดือน ครั้นทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จกลับ จึงได้รับเสด็จและได้นำภัตตาหารคาวหวานไปถวายด้วย ผู้ไปทีหลังนั่งไกล ไม่สามารถเข้าไปถวายภัตตาหารด้วยตัวเองได้ จึงใช้ใบไม้ห่ออาหารและส่งผ่านชุมชนต่อๆกันไป เพื่อขอความอนุเคราะห์ต่อผู้นั่งใกล้ๆ ถวายแทน บุญประเพณีลากพระ จึงมีขนมต้มหรือที่เรียกตามภาษาถิ่นว่า "ต้ม" เป็นขนมประจำประเพณีทำด้วยข้าวเหนียว ห่อด้วยใบไม้อ่อนๆ เช่น ใบจาก
ใบลาน ใบตาล ใบมะพร้าว หรือ ใบกะพ้อ เป็นต้น
ชิงเปรต
"ชิงเปรต" เป็นประเพณีของภาคใต้ที่กระทำกันในวันสารท เดือน ๑๐ เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือน ๑๐ นี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี(เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเอง และที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย
ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหลานลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น
เข้าชม : 20874
|