ด้วยกระแสวัตถุนิยมที่ถาโถมเข้ามาในสังคมปัจจุบัน ประกอบกับมาตรการที่เอื้ออำนวยต่อการตอบสนองต่อกิเลสแห่งวัตถุนิยมเหล่านั้น ไม่แปลกที่คนไทยจะมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งที่น่าวิตกก็คือ ในขณะนี้การเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น แต่ประสิทธิภาพในการชำระหนี้กลับลดลง เมื่อการเป็นหนี้สามารถทำได้ง่าย จึงไม่แปลกที่ลักษณะนิสัยการเสพติดการเป็นหนี้จะเพิ่มสูงขึ้น
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ในการภาวะของสังคมไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีพ.ศ. 2555 (ระหว่างเดือน ก.ค. – ก.ย. 2555) พบว่าหนี้สินภาคครัวเรือนของคนไทยมียอดคงค้างในอัตราที่สูงกว่า 2 พันล้านๆ บาท ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจากในช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน (พ.ศ. 2554) กว่าร้อยละ 20 แน่นอนว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเป็นหนี้ของคนไทยเพิ่มขึ้นก็คือการกู้ยืมเพื่อมาปรับปรุงที่พักอาสัย และฟื้นฟูความเสียหายของครอบครัวอันเนื่องมาจากมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 แต่ปัจจัยดังกล่าวก็ยังไม่แรงพอที่จะฉุดตัวเลขให้ได้สูงถึงขนาดนี้ เพราะหากจะกล่าวถึงสาเหตุของการที่ทำให้หนี้สินในภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงเห็นจะเป็นสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ที่เพิ่มมากขึ้นจากปีที่แล้วกว่าร้อยละ 33
ในขณะที่การเป็นหนี้ของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น แต่ประสิทธิภาพในการชำระหนี้กลับลดลง ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนการผิดนัดชำระหนี้ที่ค้างเกิน 3 เดือน ในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 37 หรือเทียบเป็นตัวเลขก็ร่วมๆ 7 พันกว่าล้านเลยทีเดียว ตลอดจนพฤติกรรมการออมเมื่อเทียบกับสัดส่วนในการบริโภคที่ต่ำมากเพียงร้อยละ 7 ต่อ GDP ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วนการออมสูงถึงร้อยละ 50 ต่อ GDB สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยในยุคปัจจุบันเสพติดการเป็นหนี้ ต้องการอะไรก็กู้หนี้ยืมสิน ใช้เงินในอนาคตเพื่อเนรมิตสิ่งที่ตนเองต้องการ ท้ายที่สุดก็กลายเป็นไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย อีกทั้งยังเป็นบ่อเกิดของอาชญากรรม เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่พวกเราและทุกภาคส่วน จะร่วมกันอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนไทยให้ลดลงได้เสียที