ปัจจุบัน มีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์จากสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน ชี้ชวนให้คนมา “ตรวจสุขภาพ” จำนวนมาก
“การตรวจสุขภาพ เกี่ยวข้องกับ 2 เรื่องหลักๆ คือ
1.การค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา โดยที่ยังไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มะเร็งปากมดลูกระยะแรก เป็นต้น ถ้ามีอาการเจ็บป่วยปรากฏให้เห็นแล้วค่อยไปตรวจ ไม่ใช่การตรวจสุขภาพ แต่เป็นการตรวจเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคอะไร เพื่อยืนยันผล เมื่อทราบผลการตรวจที่แน่นอนแล้วก็จะได้ให้การรักษาอย่างเหมาะสม
2.การค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เพื่อจะได้รู้ว่าสุขภาพของเราเป็นอย่างไรบ้าง และถ้าพบว่าเรามีพฤติกรรมเสี่ยงหรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคอะไร แพทย์ที่ตรวจก็จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา
อะไรคือ “การตรวจสุขภาพที่เหมาะสม”
ก่อนที่จะไปสถานพยาบาลเพื่อตรวจสุขภาพ เราต้องรู้ว่าตัวจะไปตรวจอะไรบ้าง ดังนั้น เพื่อไม่ให้การตรวจสุขภาพผิดพลาด จะต้องซักประวัติอย่างละเอียด การซักประวัติจะทำให้ค้นพบปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคได้ เมื่อรู้ปัจจัยเสี่ยงแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือการตรวจร่างกายและตรวจแล็บ (ห้องปฏิบัติการ) เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น พบว่าบางครั้งไม่จำเป็นต้องตรวจแล็บเลยก็ได้
การตรวจสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับการ “ตรวจแล็บ” มากกว่า “การซักประวัติอย่างละเอียด” ทำให้มีคนจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่าการตรวจสุขภาพคือการตรวจหาโรคโดย “ตรวจแล็บ” เป็นหลัก และมุ่งเน้นการรักษาจากหมอ แต่ละเลยการดูแลสุขภาพตนเอง
ผลจากการ “ตรวจแล็บ” มั่นใจได้แค่ไหน ขออย่าได้มั่นใจการตรวจแล็บ 100 เปอร์เซ็นต์
ผลการตรวจแล็บหลายรายการ “ขาดความแม่นยำ” และแพทย์ควรแจ้งให้ผู้ถูกตรวจทราบด้วย ส่วนผลการตรวจแล็บที่ออกมามีอยู่ 4 ลักษณะ ดังนี้
1.ผลลบจริง ไม่เป็นโรค
2.ผลบวกจริง เป็นโรค
3.ผลลบลวง เป็นโรคแฝงอยู่ แต่ตรวจไม่พบ
4.ผลบวกลวง ไม่เป็นโรค แต่ผลการตรวจเบื้องต้นว่าเป็นโรค
ถ้าไปตรวจร่างกายแล้วผลแล็บออกมาว่าเป็นโรค (อาจเป็น “บวกจริง” หรือ “บวกลวง” ก็ได้) แพทย์จึงต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันว่าเป็นโรคจริง เพื่อจะให้การรักษาได้อย่างเหมาะสม
ปัจจุบัน ยังไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสุขภาพระดับชาติ หน่วยงานนี้ต้องมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทางการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสม มีการตรวจสอบ ควบคุมมาตรฐาน และติดตามการดำเนินงานในการตรวจสุขภาพของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งให้ความรู้หรือคำปรึกษาแก่ประชาชนด้วย
เข้าชม : 642
|