วันนี้ในอดีตเมื่อ 14 ปีแล้วตรงกับวันที่ 4เมษายน 2546 วันถึงแก่กรรมคำพูน บุญทวี นักเขียนรางวัลซีไรต์ประจำปี 2522 และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปี 2544
คำพูน บุญทวี เดิมชื่อ คูน เกิดเมื่อ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ที่บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นตำบลทรายมูล อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร) เป็นบุตรคนโตจากทั้งหมด 7 คนของนายสนิทและนางลุน บุญทวี
คำพูนเรียนหนังสือที่บ้านเกิดจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนปรีชาบัณฑิต จากนั้นจึงเริ่มทำงานหลายอย่างในจังหวัดภาคอีสาน เป็นหัวหน้าคณะรำวง และขายยาเร่
ต่อมาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นกรรมกรรับจ้างรายวันที่ท่าเรือคลองเตย เป็นคนเลี้ยงม้าแข่ง เป็นสารถีสามล้อ จนกระทั่งสอบเป็นครูได้บรรจุที่ภาคใต้ สอนหนังสืออยู่ 11 ปี จึงเปลี่ยนไปเป็นผู้คุมเรือนจำ ต่อมาแต่งงานกับ นางประพิศ ณ พัทลุง เมื่อปี 2504 มีบุตร 6 คน แล้วลาออกมาจากงานราชการนี้เมื่ออายุได้ 40 ปี
เมื่อภรรยาคนแรกเสียชีวิต เขาจึงมีภรรยาใหม่ ชื่อ ลันนา เจริญสิทธิชัย ซึ่งภายหลังได้เขียนนวนิยายเรื่อง "เจ๊กบ้านนอก" โดยใช้นามปากกาว่า กิมหลั่น และร่วมกันทำสำนักพิมพ์โป๊ยเซียน เพื่อพิมพ์หนังสือของครอบครัว
เขาเริ่มเขียนหนังสือครั้งแรกเมื่อปี 2513 เมื่อครั้งยังเป็นผู้คุม ตอนนั้นมีปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว เขาจึงมุมานะอ่านหนังสือและเขียนเรื่องสั้น เรื่องสั้นเรื่องแรกที่เขาเขียน คือ "ความรักในเหวลึก" ส่งไปที่นิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์
อาจินต์ ปัญจพรรค์เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น "นิทานลูกทุ่ง" พร้อมทั้งสนับสนุนให้เขาเขียนหนังสือต่อไป เขาจึงเขียนนวนิยายเรื่องแรกคือ มนุษย์ 100 คุก จากนั้นก็เขียนเรื่อยมา เขาจึงกลายเป็นนักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้นและสารคดี
หนังสือที่ได้รับรางวัล ได้แก่ ลูกอีสาน ได้รับรางวัลดีเด่น ประเภทนวนิยาย จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2519 และได้รับรางวัล ซีไรท์ เมื่อปี 2522 เป็นผลงานที่ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์
ได้รับคัดเลือกเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาระดับมัธยมปลาย ลูกอิสาน ได้รับการแปลภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส
นายฮ้อยทมิฬ ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทนวนิยายจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2520 หลังจากนั้นเขาจึงลาออกจากผู้คุมมาเขียนหนังสือเป็นอาชีพ
คำประกาศเกียรติคุณ “คำพูน บุญทวี เป็นปราชญ์ท้องถิ่นผู้ชี้ให้ปัญหาและทางออกของสังคมอีสาน โดยบูรณาการ ความรู้ ความคิด อารมณ์ขัน มนุษยธรรม คุณธรรมและประสบการณ์เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน วรรณกรรมของ คำพูน บุญทวี เป็นแนว “สีสันท้องถิ่น” ที่แสดงวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นออกมาได้อย่างลุ่มลึกชัดเจน ในเชิงวรรณศิลป์ ที่มีคุณค่าทางวิชาการด้านต่าง ๆ
และยังให้ความบันเทิง ความเร้าใจ ชวนติดตามทั้งเรื่องสั้นและนวนิยาย นับเป็นสื่อทางปัญญาในกระบวนการเรียนรู้เรื่องรากเหง้าทางสังคมและถ่ายทอดข้อมูลความรู้ต่าง ๆ จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งมีคุณประการต่อประวัติวรรณกรรมสมัยใหม่ของไทยเป็นอย่างยิ่ง”
นายคำพูน บุญทวี จึงได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พุทธศักราช 2544
วันที่ 4 เมษายน 2546 คำพูนได้เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน รวมอายุได้ อายุ 75 ปี และได้รับพระราชทานเพลิงศพจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ณ วัดชลประทานรังสฤษฎ์เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ปีเดียวกัน
เข้าชม : 475
|