วันนี้ในอดีตเมื่อ 155 ปีที่แล้ว ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน 2405 วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 57 ใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม ทรงเป็นต้นราชสกุล "ดิศกุล” ประสูติในพระบรมมหาราชวัง
ทรงเริ่มเรียนหนังสือชั้นต้นในพระบรมมหาราชวัง และเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง เมื่อพระชนม์ได้ 13 พรรษา ได้ทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จากนั้นได้ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้รับพระราชทานยศเป็นนายร้อยตรีทหารมหาดเล็ก บังคับกองแตรวง
พระชนมายุได้ 15 พรรษา การงานก้าวหน้ามาโดยตลอด จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน พระอิสริยยศเป็น "สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ" เมื่อปี 2472
พระองค์ทรงเริ่มงานจัดการศึกษาเป็นครั้งแรกในปี 2425 โดยเปลี่ยน "โรงเรียนทหารมหาดเล็ก” เป็นโรงเรียนสำหรับพลเรือน "โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” ทรงขยายการศึกษาโดยอาศัยวัดเป็นพื้นฐาน ส่งผลให้การศึกษาขยายออกไปอย่างกว้างขวาง
ทรงก่อตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน” ในปี 2442 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” และ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยในที่สุด
ในด้านสาธารณสุข ทรงมีพระดำริริเริ่มให้มี "โอสถศาลา” สำหรับรับหน้าที่ผลิตยาแจกจ่ายให้ราษฎรในตำบลห่างไกล ปัจจุบันคือ "สถานีอนามัย” และทรงจัดตั้ง "ปาสตุรสภา” สถานที่ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในปัจจุบันโอนไปอยู่ในสังกัดของ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
นอกจากนั้นยังทรงเป็นผู้วางรากฐานกิจการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และหอสมุดแห่งชาติ พระองค์ท่านได้ทรงพระนิพนธ์หนังสือ ตำราต่าง ๆ ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ไว้เป็นจำนวนมาก
ด้วยพระปรีชาสามารถดังที่ได้กล่าวมาล้วนเป็นที่ประจักษ์ในใพระอัจฉริยภาพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงเป็นบุคคลไทยพระองค์แรกที่ได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกเมื่อปี 2505
และทรงได้รับการถวายพระนามว่า "พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย" ภายหลังกระทรวงมหาดไทยได้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์ ในลักษณะประทับนั่งบริเวณด้านหน้าศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ถนนอัษฎางค์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ขณะที่ "วังวรดิศ" พระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2454 ในรูปแบบสถาปัตยกรรมเรเนสซองส์
ปัจจุบันได้เปิดบางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์วรดิศ เพื่อแสดงให้เห็นการดำเนินชีวิตของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ภายในที่พักของพระองค์
นอกจากนั้นยังมีการจัดสร้าง "หอสมุดดำรงราชานุภาพ" ขึ้น เพื่อเป็นห้องสมุดที่เก็บรวบรวมหนังสือหายาก ซึ่งพระองค์ทรงสะสมไว้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ประมาณ 7,000 เล่ม
เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งเป็นทายาทองค์หนึ่งได้รับมรดกส่วนที่เป็นหนังสือทั้งหมด รวมทั้งสิ่งของมีค่าต่าง ๆ ตลอดจนภาพถ่ายส่วนพระองค์ และได้ประทานให้เป็นสมบัติของชาติ โดยขอให้กรมศิลปากรจัดตั้งเป็นห้องสมุด เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระบิดาให้คงอยู่คู่ประเทศชาติต่อไป
เมื่อปี 2527 วังวรดิศ ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม และได้รับการเสนอโดยองค์การยูเนสโก ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ให้ร่วมอนุรักษ์เป็นอาคารประวัติศาสตร์โลก
ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของหม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล (เหลน) ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้ วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีเป็น "วันดำรงราชานุภาพ" เพื่อน้อมนำให้อนุชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงพระองค์ ผู้ทรงมีคุณูปการต่อแผ่นดินไทยเป็นอเนกอนันต์สืบไป
เข้าชม : 561
|