[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
บิดาแห่งการเกษตรยุคใหม่

พฤหัสบดี ที่ 22 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2560


 
 
 
วันนี้ในอดีตเมื่อ 46 ปีที่แล้ว ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน  2514 วันถึงแก่กรรม หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร บิดาแห่งการเกษตรยุคใหม่  เจ้าของรางวัลแม็กไซไซ ด้านบริการสาธารณะ
 
พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ ที่ประสูติ 11 เมษายน 2426 แต่ หม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา ทรงได้รับการยกย่องเป็น บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่
 
หม่อมเจ้าสิทธิพร เสด็จไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ที่กรุงลอนดอน เริ่มรับราชการที่กระทรวงพระคลัง เมื่อปี 2444 ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมกษาปณ์ และอธิบดีกรมฝิ่น
 
เมื่อปี 2464 ทรงลาออกจากราชการ เพื่อทรงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ณ บ้านบางเบิด อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ หม่อมเจ้าสิทธิพร ได้ทรงบุกเบิกการเกษตรแผนใหม่ ณ ฟาร์มบางเบิด 
 
ทรงริเริ่มนำรถแทรกเตอร์มาใช้ในการเกษตรเป็นครั้งแรก ทรงเลี้ยงไก่พันธุ์เล็กฮอร์น สายพันธุ์ไข่ดก เป็นครั้งแรกที่บางเบิด ทรงสั่งพันธุ์แตงโมจากสหรัฐอเมริกา เพื่อปลูกจำหน่ายรู้จักกันทั่วไปในชื่อ แตงโมบางเบิด
 
การเปลี่ยนวิถีชีวิตครั้งใหญ่นี้ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่ชอบทำงานประจำประเภทนั่งโต๊ะ ไม่มีสิ่งท้าทายให้ขบคิดแก้ปัญหา แต่ส่วนสำคัญสืบเนื่องมาจากทัศนะของหม่อมเจ้าสิทธิพรเกี่ยวกับอนาคตของคนรุ่นหลังที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับทัศนะของคนร่วมสมัย
  
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในชนชั้นเดียวกับพระองค์ กล่าวคือทรงเห็นการณ์ไกลว่าราชการไม่อาจขยายตำแหน่งได้เพียงพอที่จะรองรับคนรุ่นใหม่ได้ พ่อแม่จึงจำเป็นต้องหาอาชีพอื่นเตรียมไว้ให้บุตรของตน 
 
ในบรรดาอาชีพทั้งหลายทรงเลือกอาชีพกสิกรรมด้วยทรงเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีโอกาสเหลือเฟือ ไม่ต้องแข่งขันกับใครนอกจากตัวของตัวเอง
 
ที่บางเบิด หม่อมเจ้าสิทธิพรและหม่อมศรีพรหมาได้สร้างสถานที่ที่เป็น ทั้งบ้านและไร่นา คือเป็นทั้งที่อยู่อาศัยชนิดพึ่งพาตนเองได้และเป็นที่หาเลี้ยงชีพขึ้นเพื่อให้เป็นตัวอย่าง
 
ทรงทดลองนำพืชและสัตว์พันธุ์ใหม่ๆ จากต่างประเทศมาปลูกและเลี้ยง ทรงทดลองนำเครื่องจักรกลมาใช้ทุ่นแรง ใช้ปุ๋ย ใช้ยาฆ่าแมลง ทั้งชนิดวิทยาศาสตร์และชีวภาพ โดยมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลดีผลเสียตลอดเวลา 
 
ทรงนำระบบบริหารไร่แบบใหม่มาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก มีการเก็บสถิติและทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อให้รู้ต้นทุนอย่างแท้จริง
 
ฟาร์มบางเบิดนอกจากจะเป็นต้นกำเนิดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่สามารถปลูกและเลี้ยงได้ผลดีในประเทศไทยในเวลาต่อมา เช่น ข้าวโพด แตงโม ยาสูบ ไก่ หมู แล้วยังกลายเป็นสถานีฝึกงานและศึกษางานของนักเกษตรรุ่นใหม่ของไทยไปโดยความตั้งใจและเต็มใจของท่านเจ้าของอีกด้วย
 
พระปรีชาสามารถในเชิงเกษตรของพระองค์ซึ่งใครๆ ก็กล่าวว่า ไม่ใช่นักเกษตรโดยตรง เป็นที่ยกย่องของนักเกษตรที่ต่อมาเป็นนักเกษตรชั้นครูทั้งหลายเป็นอันมาก
 
เมื่อปี.2474 ข้าวราคาตกเนื่องจากเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร กลับเข้ารับราชการเป็นอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม เพื่อนำแนวคิดเรื่องการปลูกพืชที่ดอนมาแก้ปัญหาผลผลิตเกษตร
 
หม่อมเจ้าสิทธิพรทรงให้เริ่มตั้งสถานีทดลองพืชดอนขึ้น 3 แห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ คือที่แม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ที่โนนสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และที่คอหงษ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
 
ปี2510 เป็นปีที่มีความสำคัญในประวัติของหม่อมเจ้าสิทธิพร ด้วยสถาบันถึง 2 สถาบันพร้อมใจกันยกย่องท่านให้เป็นที่ประจักษ์ 
 
นั่นคือ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขากสิกรรมและสัตวบาลแก่ท่านในเดือนกรกฎาคมและมูลนิธิรามอนแมกไซไซ ถวายรางวัลด้านบริการสาธารณะ สาขาพัฒนาการเกษตรแผนใหม่แก่ท่านเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2510
 
หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงถึงชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2514 สิริชันษา 88 ปี เพื่อสืบทอดมรดกอุดมการณ์ของหม่อมเจ้าสิทธิพร และเพื่อให้มีสิ่งน้อมใจอนุชนให้รำลึกถึงเจ้าชายนักเกษตรผู้อุทิศตน 
 
เพื่อพัฒนาการเกษตรและเกษตรกรผู้นี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้ดำเนินการจัดสร้างสถานีวิจัยและอนุสรณ์สถานขึ้นบนพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นฟาร์มบางเบิด โดยได้รับอนุมัติจากกรมธนารักษ์และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และตั้งชื่อสถานีวิจัยแห่งนี้ตามพระนามของท่านว่า สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร
 


เข้าชม : 609


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      รับสมัครนักศึกษา สกร.อำเภอสะบ้าย้อย 31 / มี.ค. / 2567
      ประกาศรับสมัครนักศึกษาสกร. 31 / ส.ค. / 2566
      กำหนดการสอบปลายภาค 7 / ก.ย. / 2565
      ขอเเสดงความยินดีกับนักศึกษา กศน.อำเภอสะบ้าย้อย 6 / มิ.ย. / 2565
      รับสมัครนักศึกษา กศน 21 / เม.ย. / 2565


 
ศกร.ระดับตำบลจะแหน
บ้านตราย หมู่ที่ 2  ตำบลจะแหน  อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05