การทำเครื่องปั้นดินเผาในสมัยโบราณนั้นอาจจะทำกันเฉพาะใช้ในครัวเรือน แต่เมื่อเวลาผ่านมาผู้คนเริ่มไปมาหาสู่กันมากขึ้นจากหมู่บ้านหนึ่ง ไปสู่หมู่บ้านหนึ่ง
การผลิตเครื่องปั้นดินเผาจึงกลายมาเป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งเพื่อการค้าขาย หรือเพื่อการส่งออก เช่นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาในสมัยโบราณที่ “บ้านสทิงหม้อ”
บ้านสทิงหม้อ เป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ในเขต อ.เมือง จ.สงขลา ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแล้ว คำว่า “สทิง” เพี้ยนมาจาก “สทึง” แปลว่าคลอง หรือแม่น้ำ โดยรวมแล้วก็คงแปลว่า บ้านคลองหม้อ หรือบ้านที่มีการปั้นหม้อมากนั่นเอง
นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าชาวบ้านสทิงหม้อเป็นผู้คนที่อพยพมาจากชุมชนโบราณสทิงพระ (ภายหลังการล่มสลายของชุมชนโบราณสทิงพระ) ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แล้วมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบริบทะเลสาบสงขลา
กลุ่มชนที่อพยพมามีความชำนาญในการปั้นหม้ออยู่แล้ว เมื่อย้ายบ้านมาอยู่ที่บริเวณนี้ให้ก็ยังคงประกอบอาชีพเดิมอยู่ จนทำให้ชุมชนสทิงหม้อเป็นชุมชนนักปั้นหม้อส่งขายให้แก่ชุมชนต่างๆ ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงตลอดมา
เมื่อ พ.ศ.2521 นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบเตาเผาโบราณที่เรียกว่า “เตาหม้อ บ้านปะโอ” บริเวณริมคลองโอ และคลองโอนี้เองที่เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่ชาวบ้านใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อไปออกปากทะเลสาบสงขลา
ชาวบ้านใช้เรือขนดินเหนียวมาจาก “ปากรอ” บริเวณปากทะเลสาบสงขลามาเป็นวัตถุดิบในการปั้นหม้อ และใช้เรือขนหม้อดินที่ปั้นเสร็จแล้วไปส่งขายแก่ชุมชนอื่นๆ ในเส้นทางเดียวกัน
ที่หมู่บ้านสทิงหม้อแห่งนี้ ยังคงสืบทอดการทำเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณกันอยู่แม้จะเหลือไม่มากแล้วก็ตาม คงต้องชื่นชมชาวบ้านที่ยังอนุรักษ์วิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณนี้เอาไว้ ทั้งเพื่อเป็นเอกลักษณ์ และเพื่อการสร้างรายได้ในท้องถิ่นอย่างชุมชนพอเพียงเลี้ยงตนเอง
"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"