ศูนย์การเรียนชุมชน
แหล่งเรียนรู้ที่อยู่ในตำบลทำนบ
ชื่อแหล่งเรียนรู้ รำกลองยาว
ชื่อผู้ดูแลแหล่งเรียนรู้ นายประกอบ เกษาทร
สถานที่ตั้ง ลานวัฒนธรรม หมู่ 5 ตำบลทำนบ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา
องค์ความรู้ ประวัติรำกลองยาว
รำกลองยาว ประเพณีการกลองยาว หรือ เถิดเทิง มีผู้เล่าให้ฟังเป็นเชิงสันนิษฐานว่าเป็นของพม่า นิยมเล่นกันมาก่อนเมื่อครั้งที่พม่ามาทำสงครามกับไทยในสมัยกรุงธนบุรี หรือสมัยต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เวลาพักรบพวกทหารพม่าก็จะเล่นสนุกสนานกันด้วยการเล่นต่างๆ ซึ่งทหารพม่าบางพวกก็เล่น “กลองยาว” พวกไทยเราได้เห็นก็จำมาเล่นกันบ้าง เมื่อชาวไทยเห็นว่ารำกลองยาวเป็นการเล่นที่สนุกสนาน และเล่นได้ง่ายก็นิยมเล่นกันไปแทบ ทุกบ้านทุกเมืองมาจนทุกวันนี้
ประวัติความเป็นมา คณะกลองยาวที่มีชื่อเสียงมากของชาวอำเภอพยุหะคีรี ได้แก่ คณะ บ.รุ่งเรืองศิลป์ ของนายบุญ เอี่ยมเวช ซึ่งได้ดัดแปลงท่าร่ายรำมาจากท่าร่ายรำของลิเก พร้อมได้ดัดแปลงประดิษฐ์ชุดแต่งกายขึ้น โดยเลียนแบบจากเครื่องแต่งกายของลิเกเช่นกัน และใช้ชื่อว่า “กลองยาวประยุกต์” และได้นำออกแสดงเป็นครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2500
ผู้เล่น
ในตอนแรกผู้ร่ายรำใช้ทั้งชายและหญิง ต่อมาเปลี่ยนเป็นใช้ผู้หญิงเป็นผู้ร่ายรำเท่านั้น ส่วนผู้ชายทำหน้าที่ตีกลองยาว และเครื่องดนตรีประกอบ ในตอนแรกมีผู้เล่นทั้งหมด 16 คน โดยมีผู้ตีกลองยืน 3 คน และผู้ตีเครื่องดนตรีประกอบได้แก่ ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ฆ้อง อีก 5 คน สำหรับผู้รำมี 4 คู่ 8 คน มีผู้รำคนหนึ่งเป็นหัวหน้า คล้องนกหวีดไว้ที่คอสำหรับเป่าเป็นสัญญาณในการเปลี่ยนท่ารำ ในตอนหลังมีการเพิ่มเครื่องดนตรี เช่น กลองอเมริกันและปี่ชวาขึ้น และเพิ่มความครึกครื้น ก็เพิ่มผู้ร่ายรำเข้าไปอีก
อุปกรณ์ในการเล่น
กลองยาวที่ใช้ตีเป็นกลองยืน 3 ใบ กลองใหญ่ (กลองอเมริกัน) ฉาบเล็ก 1 คู่ ฉาบใหญ่ 1 คู่ ฉิ่ง 1 คู่ ปี่ชวา 1 เลา ฆ้อง 1 ใบ กรับ 1 คู่และกลองยาวที่ผู้รำใช้ประกอบการร่ายรำอีกคนละ 1 ใบ
โอกาสและวิธีการเล่น
นิยมเล่นกันในงานตรุษ งานสงกรานต์ หรืองานแห่แหน ซึ่งต้อง เดินเคลื่อนขบวน เช่น ในงานแห่นาค แห่พระ และแห่กฐิน เป็นต้น คนดูคนใดรู้สึกสนุกจะเข้าไป รำด้วยก็ได้ เพราะเป็นการเล่นอย่างชาวบ้าน เคลื่อนไปกับขบวน พอถึงที่ตรงไหนมีลานกว้างหรือเหมาะก็หยุดตั้งวงเล่นกันก่อนพักหนึ่งแล้วเคลื่อนไปต่อ การเล่นเถิดเทิงกรมศิลปากรปรับปรุงใหม่ กำหนดให้มีแบบแผนลีลาท่ารำ โดยกำหนดให้มีกลองรำ กลองยืนด้วย
กลองรำ หมายถึง ผู้ที่แสดงลวดลายในการร่ายรำ กลองยืน หมายถึง ผู้ตีกลองยืนให้จังหวะในการรำ การเล่นเถิดเทิงแบบนี้มีมาตรฐานตายตัว ผู้เล่นทั้งหมดต้องได้รับการฝึกฝนมาก่อน คนดูจะได้เห็นความงามและความสนุกสนานแม้จะไม่ได้ร่วมเล่นด้วยก็ตาม จำนวนผู้แสดงแบบนี้จะมีเป็นชุด คือ พวกตีเครื่องประกอบจังหวะ คนตีกลองยืน คนตีกลองรำ และผู้หญิงที่รำล่อ พวกตีประกอบจังหวะ จะร้องประกอบเร่งเร้าอารมณ์ให้สนุกสนานในขณะที่ตีด้วย เช่น
“มาแล้วโหวย มาแล้ววา มาแต่ของเขา ของเราไม่มา ตะละล้า”
“ต้อนเข้าไว้ ต้อนเขาไว้ เอาไปบ้านเรา พ่อก็แก่แม่ก็เฒ่าเอาไปหุงข้าวให้พวกเรากินตะละล้า”
“ใครมีมะกรูด มาแลกมะนาว ใครมีลูกสาว มาแลกลูกเขย เอาวะ เอาเหวย ลูกเขยกลองยาว ตะละล้า”
ที่เรียกการเล่นประเภทนี้ว่า เถิดเทิง เทิงบ้องนั้น คงเรียกกันตามเสียงกลองยาว กล่าวคือมีเสียงเมื่อเริ่มตีเป็นจังหวะ หูคนไทยได้ยินเป็นว่า “เถิด – เทิง – บ้อง – เทิง – บ้อง” เลยเรียกตามเสียงที่ได้ยินว่าเถิดเทิง หรือเทิงบ้องกลองยาวตามกันไป เพื่อให้ต่างกับการเล่นอื่น
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน
2. เพื่อสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านไว้เป็นมรดกของชาวนครสวรรค์
เข้าชม : 11997 |