[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

  

บทความทั่วไป
การป้องกันการติดยาเสพติดในโรงเรียนหรือสถานศึกษา

อังคาร ที่ 3 เดือน กันยายน พ.ศ.2556

คะแนน vote : 19  

 การป้องกันการติดยาเสพติดในสถานศึกษา 

             ภัยอันน่ากลัวของยาเสพติดได้ขยายตัวลุกลามเข้าไป ในรั้วโรงเรียนเพิ่มมากขึ้นทุกที จนเป็นที่น่าหวั่นเกรงว่า หากไม่ดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน อาจเป็นสิ่งที่สายเกินไป สำหรับเยาวชนและกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา ประเทศในอนาคตในการที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา โดยได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็นกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ดังนี้

1. กลุ่มนักเรียนที่ไม่เคยใช้ยาเสพติดเป็นการดำเนินงานป้องกันยาเสพติด แก่กลุ่มนักเรียนที่ไม่มีประสบการณ์ ในการใช้ยาเสพติดเป็นการดำเนินการในด้านการสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดในระยะยาว โดยมีมาตรการดำเนินงานต่างๆ เช่น

      - การให้ความรู้หรือผนวกเนื้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดเข้าไว้ ในวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

      - การจัดนิทรรศการ การจัดเสียงตามสายในโรงเรียน

      - การจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดในโรงเรียน

      - การฝึกทักษะชีวิตเพื่อให้รู้จักปฏิเสธยาเสพคิด

      - การใช้กิจกรรมกลุ่มเพื่อน

2. กลุ่มนักเรียนที่มีประสบการณ์ในการใช้ หรือเริ่มทดลองใช้ยาเสพติดบางชนิด แต่ยังไม่ถึงขั้นเสพติดการดำเนินงานในกลุ่มนี้เป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบดำเนินการก่อนที่นักเรียนจะใช้ยาเสพติดที่รุนแรงขึ้น ซึ่งการหยุดพฤติกรรมดังกล่าวควรให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียน ดังนี้

      - จัดให้มีมุมบริการปรึกษาแนะแนวหรือให้การปรึกษาปัญหาต่างๆ แก่นักเรียนที่มีปัญหา

      - ใช้กิจกรรมกลุ่มเพื่อนเพื่อปรับพฤติกรรมให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม

      - จัดค่ายกิจกรรมในโรงเรียนโดยมีครูอาจารย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

      - ประสานงานกับผู้ปกครองอย่างใกล้ชิดเพื่อร่วมกันแก่ไขปัญหา

3. กลุ่มนักเรียนที่ติดยาเสพติดกลุ่มนี้โรงเรียนควรประสานให้ผู้ปกครองส่งตัวเข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยควรทำความเข้าใจทั้งกับตัวผู้ ปกครองและตัวเด็กเอง ให้เข้ารับการบำบัดรักษาด้วยความสมัครใจ ซึ่งเมื่อรักษาหายแล้วเด็กสามารถที่จะกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติกลุ่มนักเรียนที่มีพฤติกรรมค้ายาเสพติดสำหรับกลุ่มนี้ ทางโรงเรียนควรประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการปราบปราม ก่อนที่การแพร่ระบาดจะขยายตัวมากขึ้น หากเป็นนักเรียนที่มีพฤติกรรมเสพด้วยและค้าด้วย ควรประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบำบัดรักษาและดำเนินการไปตามกฎหมาย

ทำอย่างไรไม่ให้ลูกติดยา       

             การปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้ติดยาเสพติดมีแนวทางสำหรับพ่อ แม่และผู้ปกครองมีวิธีดังนี้

- ครอบครัวมีความปรอดองกัน มีความอบอุ่น ช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นอย่างดี

- พ่อแม่รับฟังปัญหาของลูก และหาแนวทางแก้ไขให้พร้อมทั้งให้การสนับสนุนและกำลังใจ

- หลีกเลี่ยงการคบเพื่อนซึ่งติดยาเสพติด

- มีความสุจริตใจในการทำงาน การศึกษาเล่าเรียน และการติดต่อคบหากับผู้อื่น

- ศึกษาเรียนรู้พิษภัยของสารเสพติด

- หลีกเลี่ยงจากกลุ่มคนซึ่งชอบการดื่มสุราหรือสูบบุหรี่

- เตือนใจตัวเองอยู่เสมอว่าการลองเสพสารเสพติดเพียงครั้งเดียว ก็อาจทำให้เสพติดได้

- เมื่อมีการไม่สบายไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ ให้พบแพทย์หรือได้รับการรักษาด้วยวิธีถูกต้อง

  ไม่ควรรับประทานยาเอง โดยเฉพาะยานอนหลับ หรือดื่มสุราเพื่อให้จิตใจสบาย

- เลือกคบเพื่อนที่มีความคิดสร้างสรรค์

- เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน

- ร่วมในการเล่นกีฬาของโรงเรียน

- บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ในโรงเรียน เช่น ดูแลนักเรียนชั้นเล็ก ๆนประ

- ตั้งในเรียนให้ดีที่สุด และเอาเวลาว่างจากการเรียนไปทำประโยชน์ เช่น ดูหนังสือ ช่วยครอบครัวทำงาน

- เมื่อเกิดปัญหาปรึกษาผู้ใกล้ชิด เช่น ผู้ปกครอง และครู

- มีงานอดิเรกทำรวมทั้งกิจกรรมเพื่อความเพลิดเพลิน อย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว ๆ วิ่ง ว่ายน้ำ เล่นกีฬา   ปลูกต้นไม้หรือทำงานบ้านขณะออกกำลังกายร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (endorphin) ซึ่งจะทำให้เกิด   ผลดีดังต่อไปนี้ (ก) ลดอาการปวด (ข) เกิดความสุขใจ และ (ค) เพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันทำให้

  ร่างกายแข็งแรง

- ออกกำลังกาย

- ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยลดความเครียดและช่วยทำให้นอนหลับสบาย

- นั่งสมาธิ ผลดี ของการนั่งสมาธิคือ (1) ทำให้จิตใจสงบ (2) ร่างกายแข็งแรง และ (3) นอนหลับสบาย

- ปฏิบัติตัวตามหลักของพระพุทธศาสนา เช่น ดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง รักษาศีลห้า ไม่โลภ มีขันติ  ความอดทน อดกลั้น วางตนสม่ำเสมอและบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ติดยา     

          เมื่อลูกเติบใหญ่ จะเลี้ยงลูกอย่างไรจึงพ้นภัยยาเสพติด

1. สอนให้รู้จักวิธีการใช้ยา ในทางที่ถูกต้องและปลอดภัย รู้โทษและรู้ภัยของยาเสพติดป้องกันมิให้ถูกหลอกให้กระทำผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

2. ชี้แจงให้ลูกเข้าใจ และยอมรับสภาพของครอบครัว ว่าควรใช้ชีวิตให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง ป้องกันการใช้ยาเสพติดในการแก้ปัญหาชีวิต

3. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เพื่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจ เมื่อสมาชิกในครอบครัวมีความสุขเมื่ออยู่ในบ้าน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปพึ่งยาเสพติด

4. เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่บุตรหลานในเรื่องคุณธรรม และคุณภาพชีวิต

 

5. สอนให้ลูกรู้จักปรับตนเอง ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และหลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานในสิ่งที่ผิด เช่นยาเสพติด อบายมุข

ฉี่สีม่วงคืออะไร

           ฉี่สีม่วง คือ การตรวจปัสสาวะหายาบ้าแบบหนึ่ง ซึ่งราคาไม่แพงและวิธีการก็ทำได้ง่าย ค่ะ โดยนำสารเคมีมาผสมกับปัสสาวะถ้าปัสสาวะมียาบ้าก็จะเปลี่ยนเป็นสีม่วง ทำให้นิยมเรียกกันว่าฉี่สีม่วง แต่ฉี่สีม่วงก็มีข้อควรระวังอยู่เหมือนกัน เนื่องจากจะมีโอกาสเกิดผลบวกลวงขึ้นได้ ผลบวกลวงนี้หมายถึงการที่ฉี่เป็นสีม่วง แต่จริงๆแล้วผู้ถูกตรวจไม่ได้เสพยาบ้าเลย ซึ่งมีกรณีที่เกิดขึ้นจริงแล้วหลายครั้ง เนื่องจากว่าสารเคมีที่ใช้ทดสอบจะทำปฎิกิริยาเป็นสีม่วงกับสารอื่นด้วย ไม่เฉพาะแต่ยาบ้าอย่างเดียว เช่น ถ้าผู้ถูกตรวจกินยาแก้หวัดหรือยาลดความอ้วน ก็จะเกิดผลบวกลวงขึ้นได้มีข้อควรระวังอีกหนึ่งข้อค่ะ คือฉี่สีม่วงจะมีความไวในการตรวจต่ำ ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีปริมาณยาบ้าในปัสสาวะมากหน่อยจึงจะตรวจพบฉี่สีม่วงได้ ทำให้ผู้ที่เสพยาบ้าปริมาณน้อย หรือเสพมานานกว่า 24 ชั่วโมง อาจจะหลุดลอดไปได้ค่ะ ดังนั้นถ้าเราจะใช้ผลการตรวจฉี่สีม่วง เพื่อนำไปเป็นหลักฐานหรือดำเนินคดีก็ควรจะตรวจยืนยันด้วยวิธีการอื่นเพิ่มเติมค่ะ เพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่ปรักปรำคนผิดไปเพราะผลบวกลวงจากฉี่สีม่วง

 

วิธีหลีกเลี่ยงยาเสพติด 

1. ไม่พูดคุยกับผู้เสพยาในที่ลับตาหรือร่วมวงสนทนากับกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด

2. ไม่กระทำตนเป็นผู้รับฝาก นำส่งหรือหยิบยื่นยาเสพติดให้กับผู้อื่น

3. เลือกคบเพื่อนที่ดี หากิจกรรมที่มีประโยชน์ทำในเวลาว่าง แนะนำเพื่อนให้เลิกยาเสพติด ถ้าหากเพื่อนหลงผิด ควรแจ้งให้ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ทราบ

4. อย่าคิดว่าตนเองเลิกยาเสพติดได้แล้ว หากจะใช้นิดหน่อยคงไม่ติดอีก

5. ไม่เข้าไปในแหล่งที่มีการซื้อขายยาเสพติด พยายามนึกถึงผลเสียของการใช้ยาเสพติด

6. หมั่นให้กำลังใจตนเองในการกระทำความดีที่ทำมาอย่างสม่ำเสมอ

7. มองโลกในแง่ดี มีความหวังในชีวิต ไม่ท้อถอย

8. เมื่อมีปัญหาก็ควรปรึกษาพ่อ แม่ ผู้ปกครองหรือบุคคลที่ไว้วางใจ

 

เสพยามากแค่ไหนถึงติด        

          มีวัยรุ่นหลายคนบอกว่าผมสูบยาบ้าแล้วไม่ติดหรอก จะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ จะเสพเมื่อไหร่ก็ได้ ผมสามารถควบคุมมันได้ คำกล่าวนี้บางครั้งก็จริง บางครั้งก็ไม่จริง เพราะเมื่อถามลงไปลึกๆ แล้วที่บอกว่าจะหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ กลับเป็นว่าจะหยุดก็ต่อเมื่อไม่มีเงิน ไม่มียา หรือหาที่เสพเหมาะๆ ไม่ได้ ไม่สามารถหยุดการเสพได้อย่างถาวร ในทางการแพทย์แล้วการที่บอกว่าคนจะเสพถึงขั้นติดจะมีลักษณะสำคัญที่สามารถสังเกตได้ 3 อย่างด้วยกันคือ

ข้อที่ 1 ผู้เสพจะเริ่มดื้อยา คือ ต้องใช้ยามากขึ้นกว่าครั้งแรกๆ หรือใช้ยาเท่าเดิมแต่เมายาน้อยลง

ข้อที่ 2 ผู้เสพจะเสียงาน เสียการเรียน ไม่ดูแลตนเองเนื่องจากหมกมุ่นแต่เรื่องยาเสพติด

ข้อที่ 3 ผู้เสพจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จะต้องหายามาเสพให้ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อให้ได้ยามาเสพประจำ

                ถ้าพบว่ามีลักษณะที่เข้าข่าย 3 ข้อนี้ ต้องรีบพามารักษานะคะอย่าปล่อยไว้ เพราะยิ่งนานก็จะยิ่งสาย รักษายากขึ้นทุกที

 

ปัจจัยที่ทำให้เยาวชนไม่ติดยาเสพติด  

            ในปัจจุบัน การที่เด็กและเยาวชนจะเข้าสู่วงจรของยาเสพติด ก็จะเริ่มต้นมาจากสิ่งแวดล้อมในครอบครัว เพราะเป็นสถานที่ที่หล่อหลอม ให้เด็กมีความคิด การเรียนรู้ในเชิงสร้างสรรค์ เช่น รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี และเขาจะเลือกรับรู้ได้ เด็กและเยาวชนที่อยู่ใน ครอบครัวที่มีความสุข มีแบบอย่างที่ดีในบ้านคือ พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองเขาก็จะเลียนแบบอย่างที่ดีนั้น เขาก็จะเป็นบุคคลที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี

             ส่วนสำคัญอย่างมาก คือ การเลี้ยงดูในครอบครัว ทำให้เด็กและเยาวชนไม่ติดยา จากเหตุผลดังนี้

1. เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครอง เลี้ยงดูในบรรยากาศที่ดีให้เกียรติคนในครอบครัว เหมือนกับให้เกียรติคนนอกบ้าน ทำให้เด็กไม่มีปมด้อย ไม่เปรียบเทียบจุดเด่นของนอกบ้านกับจุดด้อยของคนในบ้าน

2. เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครอง สอนลูกให้รู้จักเลือกรับฟังเลือกรับรู้ ในสิ่งที่ดีของสังคม มีประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น และส่งผลดีต่อประเทศชาติ

3. เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครอง สอนลูกให้เป็นคนเก่ง สร้างรากฐานให้มีความภูมิใจในตนเอง โดยชื่นชมให้กำลังใจลูกในทางที่สร้างสรรค์และถูกต้อง

4. เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครอง สอนลูกให้รู้จักการแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลและฝึกให้ลูกมีการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ แม้มีการขัดแย้ง  ไม่ใช้ความรุนแรงต่างๆ

5. เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครอง เลี้ยงลูกให้รู้จักให้อภัยไม่ซ้ำเติมเมื่อมีปัญหา มีความทุกข์ ปลอบโยน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ช่วยกันปรับและแก้ไขใหม่ 

6.  เพราะพ่อแม่ ผู้ปกครอง มักสอนให้ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เช่น ปลูกต้นไม้ เล่นกีฬา หรือนันทนาการที่ชอบ

           ส่วนสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและเพื่อนทำให้เด็กและเยาวชนไม่ติดยาจากเหตุผล ดังนี้

1. เพราะโรงเรียน มีมาตรการแทรกแซง ป้องกันปราบปราม เข้มงวด ร่วมกับทางครอบครัวในการแก้ปัญกายาเสพติดมิให้ระบาทในโรงเรียน เช่น โรงเรียนสีขาว ปลอดยาเสพติด

2. เพราะครูและเพื่อน ให้ความเข้าใจ ให้การยอมรับไม่ลงโทษซำเติม หรือแสดงการปฏิเสธเพื่อน

3. เพราะครูและเพื่อนเป็นที่พึ่ง เมื่อมีปัญหาที่เพื่อนช่วยเหลือในทางที่ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติด

4. เพราะครูและเพื่อน ช่วยชี้แนะและร่วมฝึกทักษะให้รู้จักการปฏิเสธยาเสพติด และรู้โทษพิษภัยยาเสพติด

5. เพราะครูและเพื่อน มีส่วนร่วมในการดูแลสอดส่องป้องกันปัญหายาเสพติดในโรงเรียน

           ส่วนสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ สิ่งแวดล้อมในชุมชนจะทำให้เด็กและเยาวชนไม่ติดยาเสพติดจากเหตุผลต่างๆ ดังนี้ คือ

1. เพราะชุมชน มีส่วนร่วมกับทางราชการโดยมีนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องการดำเนินการป้องกันปราบปรามยาเสพติดเพื่อควบคุมและลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดอย่างจริงจัง

2. เพราะชุมชน ครอบครัว และสถาบันการศึกษาเป็นฐานในการสร้างกระแสรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดไม่ให้แพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง

3. เพราะชุมชน มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ติดยาเสพติดได้เข้าฟื้นฟูสมรรถภาพในสถานพยาบาล

 

4. เพราะชุมชน ได้มีการระดมความร่วมมือร่วมใจ จัดตั้งโครงการหรือเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือ ดูแล สอดส่อง และบำบัดรักษายาเสพติดให้ดีขึ้น โดยให้อภัย ไม่รังเกียจ หรือผลักดันผู้ที่ติดยาเสพติดออกจากชุมชน หรือสังคมไปก่อปัญหา ต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นการลดการบริโภค ลดการผลิตและลดปัญหาต่างๆ ของยาเสพติด



เข้าชม : 2419


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      MOE Safety Center 19 / มิ.ย. / 2566
      ทำความรู้จักกับ เซลฟี่(Selfie) โรคคลั่งถ่ายรูปตัวเองระบาดในกลุ่มวัยรุ่น 17 / พ.ย. / 2558
      ไม่เห็น ใช่ว่า ไม่มี 17 / พ.ย. / 2558
      อันตรายจากการเสียสมาธิในขณะขับรถ 17 / พ.ย. / 2558
      สร้างลูกให้ฉลาดครบ 8 ด้าน 17 / พ.ย. / 2558


 
ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเทพา เลขที่ 26 ถนนเทพา-ลำไพล ตำบลเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา 90150    โทร  0-74376-497
http://sk.nfe.go.th/thepa facebook : สกร.ระดับอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา youtube : สกร.ระดับอำเภอเทพา

Powered by MAXSITE 1.10 Modify by นิกร เกษโกมล Version 2.05