“เศรษฐกิจพอเพียง” ปรัชญาของในหลวง กับการบริหารคน
หลายคนมองว่าปรัชญาเรื่อง “ความพอเพียง” และเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ดูจะเป็นเรื่องสวนทางและไม่สามารถไปกันได้ในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันรุนแรงเช่นทุกวันนี้
หากในความเป็นจริง ถ้าลองได้วิเคราะห์ดูอย่างละเอียดแล้ว ความพอเพียงนั้นสามารถนำมาใช้ในการบริหารดำเนินงานได้ในทุกส่วนขององค์กร แม้แต่ในเรื่องการ “บริหารคน” เพราะขนาดองค์กรยักษ์ใหญ่ระดับชาติ อย่างเครือซิเมนต์ไทย ยังขานรับว่าสามารถนำหลักปรัชญาดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาองค์กร โดยเฉพาะด้านการพัฒนาบุคลากรของตนเองได้และค่อนข้างประสบความสำเร็จด้วยซ้ำ นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาบุคลากรแบบพอเพียงนั้นเป็นไปได้จริงๆ
ความพอเพียงกับ HR สามารถไปด้วยกันได้อย่างไร
การที่จะปรับประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เหมาะสถานการณ์ และสำคัญที่ “กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย” โดยมีความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ
เมื่อนำกลับมาวิเคราะห์ใช้กับองค์กรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาบุคลากรล้วนต่างให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน ทั้ง 2 แนวทางต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความสำคัญเรื่องความมั่นคงของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ และยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรเต็มที่ามศักยภาพของตน โดยการดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดผลสำเร็จ จะต้องอาศัยหลักการสำคัญ 3 ประการ ในการประเมินความเป็นไปได้ต่างๆ และการตัดสินใจ ดังนี้คือ
1. พอประมาณ คือ ความพอดี ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป หมายถึงการรู้จักให้โอกาสแก่บุคคลในองค์กร ในสิ่งที่สมควรได้ หรือตามความสามารถของพนักงานอย่างแท้จริง และรู้จักให้บุคลากรมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองด้วยตนเองด้วย เพื่อให้บุคลากรสามารถพึ่งตนเองได้ด้วยเช่นกัน
2. มีเหตุผล การคำนึงเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ การใช้เหตุผลในการบริหารคน และการตัดสินใจต่างๆ อย่างรอบคอบมากกว่าใช้อารมณ์ส่วนตัว และเป็นธรรม
3. มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เป็นการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น ในทางดีหรือร้าย แต่ก็ยังคงสามารถรักษามาตรฐานความเป็นกลางในการบริหารคนเอาไว้ได้
4. อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถนำหลักปรัชญาพอเพียง มาปฏิบัติกับการบริหารบุคลากรได้ คือการให้คุณค่ากับบุคลากร และทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นร่วมกันและเท่าเทียมกัน ซึ่งทั้ง 2 แนวคิดมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพัฒนาคนบนฐานความเชื่อว่า การพัฒนาหมายถึง กระบวนการที่ช่วยให้คนมีโอกาสในการที่จะปรับปรุงตนเอง และพัฒนาศักยภาพให้สามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์ มีเสรีภาพและมีศักดิ์ศรี ที่สำคัญ ความพอเพียง” นั้นคือความพอดี ซึ่งมีความเชื่อว่าการพัฒนาต้องมีความยั่งยืน เสมอภาค เคารพธรรมชาติและใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยความระมัดระวัง ไม่มากหรือน้อยจนเกินไปในทุกเรื่องและมุ่งหวังประโยชน์ระยะยาวมากกว่าระยะสั้น
ซึ่งข้อดีของการนำแนวคิดแบบพอเพียงมาใช้กับการบริหารคน ถือเป็นการให้ความพอดีทั้งกับองค์กรและตัวของบุคลากรเอง
เข้าชม : 811
|