[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 
ประวัติความเป็นมาของตำบลสะกอม
                   ตำบลสะกอมเป็นตำบลหนึ่งจากจำนวน ๗ ตำบลของอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ตำบลสะกอม มีจำนวน 8 หมู่บ้าน  เริ่มจัดตั้งเป็นสภาตำบลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ ตาม พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ต่อจากนั้นได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยกฐานะสภาตำบลสะกอมเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๓๙ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย หน้าที่ ๓ ข้อ ๑,๖๗๗ โดยให้โอนงบประมาณ ทรัพย์สิน สิทธิ สิทธิเรียกร้อง หนี้ และเจ้าหน้าที่ของสภาตำบลไปเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ต่อมาได้ปรับขนาดจากองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดเล็ก เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดกลาง ตั้งแต่วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ตามมติคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.)จังหวัดสงขลา ในการประชุม ครั้งที่ ๖/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๐ และตามประกาศองค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๐
                   ตำบลสะกอมเป็นตำบลที่มีอาณาเขตติดกับชายทะเล มีชื่อปรากฏขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๘๕- ๒๔๘๘ ในสมัยนั้นตำบลสะกอม ประชาชนมีอาชีพค้าขาย เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองมากทั้งทางบกและทางน้ำ มีประชาชนอพยพเข้ามาอยู่ รวมทั้งมีการตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก
                   รูปแบบของการปกครองในอดีตซึ่งจะมี “ท่านขุน” เป็นผู้ปกครองชุมชนต่างๆ ในอำเภอเทพานั้น ทำให้มีชื่อบุคคลเหล่านี้ปรากฏขึ้นในฐานะ “ผู้ปกครอง” ชุมชนแต่ละพื้นที่ เช่น ขุนลำไพลพลานนท์ (ต้นตระกูลแก้ววิชิต) ปกครองพื้นที่ตำบลลำไพล, ขุนภารกิจโกศล (ต้นตระกูลภารกิจโกศล) ปกครองพื้นที่ตำบลวังใหญ่, ขุนสกลสะกอมไกร หรือเจ้าขุนสะกอมไกร (ต้นตระกูลเจริญชล) ปกครองพื้นที่ตำบลสะกอม และขุนลำไพลราษฎร์รักษา (ต้นตระกูลล่าหมัน) ชาวมุสลิมปกครองพื้นที่ตำบลลำไพล
                   คำว่า “สะกอม” เป็นคำที่มาจากภาษามาลายู แปลเป็นภาษาท้องถิ่นภาคใต้ว่า บาง ตำบลนี้มีประวัติของบุคคล คนหนึ่งซึ่งเป็นตัวตลกในหนังตะลุงของชาวใต้มีชื่อว่า “สะหม้อ” เป็นตัวตลกที่มีคนรู้จักเป็นจำนวนมาก เอกลักษณ์ของตัวตลกตัวนี้คือ รูปร่างเล็ก ท้องโต พูดมาก มีสำเนียงเหน่อ กินจุ เป็นตัวแสดงหนังตะลุงของทางภาคใต้อยู่ในปัจจุบัน
                   ในด้านภาษาซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ศัพท์สูง สันนิษฐานว่ามาจากการใช้ราชาศัพท์กับนายหัวเมือง คือ เจ้าขุนสะกอมไกร และมาจากภาษามาลายูบ้างว่า “สะกอม” มาจากภาษามาลายู “สภาโฮม” แปลงมาเป็นสะกอมในปัจจุบันนี้
๒.๒ ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านต่างๆ ในตำบลสะกอม
                   มีจำนวน 8 หมู่บ้าน ดังนี้
                   หมู่ที่ ๑ บ้านปากบางสะกอม
                   มีชุมชนกลุ่มหนึ่งได้ย้ายบ้านเรือนมาจาก บ้านสะกอม อำเภอจะนะ มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลำคลองสะกอม ซึ่งไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย โดยทั่วไปภูมิประเทศแบบนี้จะเรียกปากอ่าว หรือ ปากบาง เพราะฉะนั้นคนที่ย้ายมาส่วนใหญ่เป็นคนสะกอม กลุ่มคนเหล่านั้นจึงพร้อมใจเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านปากบางสะกอม” มีพื้นที่ประมาณ ๑๐,๓๔๑ ไร่
                   ในสมัยราชการที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงปรารภว่าตามหัวเมืองไม่มีกำนันผู้ใหญ่บ้านที่จะปกครองดูแลพสกนิกรจึงได้ส่งเจ้าหัวเมืองสะกอม คือ เจ้าขุนสะกอมไกร มาดูแลหัวเมืองที่ปากบางสะกอม มีประชาชนจำนวน ๕๐ หลัง อาชีพประมง ทำสวน ทำนา มีการเดินทางไปซื้อข้าวจากระโนด ทางเรือผ่านสงขลา ปากรอ ปากพยูน และระโนด
                   ในด้านภาษา ซึ่งเป็นภาที่ใช้ศัพท์สูง สันนิษฐานว่ามาจากการใช้ราชาศัพท์กับนายหัวเมือง คือ เจ้าขุนสะกอมไกร และมาจากภาษามลายูบ้าง เช่น สำเนียงภาษา “สภาโฮม” แผลงมาเป็นสะกอม แปลงจากภาษามลายู มีภาษามลายูใช้ เช่น บาเดาะ ที่ใช้ทำแยกข้าวเปลือกจากข้าวสารโดยวิธีการฝัด ถาด-ตลัม, แถลง – พูด, ไม่จารา – ไม่สนใจ, ยากัฟหรือแถลง
                   หมู่ที่ ๒ บ้านสวรรค์
                   บ้านสวรรค์เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ.๒๐๔๕ หรือเมื่อ ๕๐๐ ปีมาแล้วเดิมมีชื่อว่า “หวัน” ซึ่งเป็นชื่อของนายโต๊ะหวัน เป็นคนปัตตานีที่มาเยี่ยมญาติที่บ้านท่าปาป (ปัจจุบัน คือ บ้านบ่อโชน หมู่ที่ ๗ ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ) แล้วข้ามคลองมาเที่ยวฝั่งตำบลสะกอม อำเภอเทพา ได้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ เกิดความชอบและต่อมาได้อพยพครอบครัวมาอยู่ โต๊ะหวันเป็นผู้ที่มีความรู้ทางศาสนาอิสลาม จึงมีบุคคลในหมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ และมีลูกศิษย์มากมาย ส่วนใหญ่ใครไปหาโต๊ะหวัน ก็จะบอกว่าไปบ้านหวัน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ชาวบ้านได้ตั้งโรงเรียนระดับประถมศึกษา เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงตั้งชื่อว่าโรงเรียนบ้านสวรรค์ แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ยังคงเรียกว่า “บ้านหวัน” มีพื้นที่ประมาณ ๘,๙๔๑ ไร่
                   หมู่ที่ ๓ บ้านม่วงถ้ำ
                   บ้านม่วงถ้ำ เมื่อก่อนเรียกท่าประดู่ การคมนาคมต้องใช้ลุ่มน้ำนาทวีเป็นเส้นทางสัญจรไปสู่ทางรถไฟท่าแมงลัก ม่วงถ้ำเป็นท่าเรือท่าหนึ่งซึ่งใช้ภายในหมู่บ้าน เรียกว่า ท่าประดู่ ภายหลังชาวบ้านเปลี่ยนชื่อเป็น “บ้านมุ่งธรรม” แต่ยื่นเรื่องเสนออำเภอ ทางอำเภอเขียนผิดเป็น “บ้านม่วงถ้ำ” มาจนทุกวันนี้ ผู้อพยพมาครั้งแรกที่บ้านม่วงถ้ำ คือ ตระกูลมาหลงซึ่งอพยพมาจากอำเภอสิงหนคร นับถือศาสนาอิสลาม
                   สำหรับชุมชนบ้านสวนรวมนั้น กำนันตำบลสะกอม อำเภอจะนะ รวมพรรคพวกจากสะกอมมาจองที่ดินค่ายนิคม แต่ต่อมาก็ล่มสลาย
                   สำหรับอีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง คือ มีถ้ำอยู่ริมคลองและมีต้นมะม่วงขนาดใหญ่ ประชาชนอาศัยอยู่บริเวณนั้นจนเป็นชุมชน แต่เมื่อฤดูฝนมักเกิดน้ำท่วมบริเวณดังกล่าวอยู่บ่อยๆ ชาวบ้านจึงย้ายขึ้นมาอยู่บริเวณริมควนจนมาถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ประมาณ ๑๓,๕๕๑ ไร่
                   หมู่ที่ ๔ บ้านพรุหลุมพี
                   พรุหลุมพี คำว่าพรุนั้น เนื่องจากมีท้องทุ่งจำนวนมากและเป็นบริเวณทุ่งกว้างชาวบ้านในภาคใต้จะเรียกว่า พรุ   ส่วนคำว่า   หลุมพี   คือ    ต้นกุมพี เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งมีลำต้นลักษณะคล้ายระกำ     ในสมัยแรกของการก่อตั้งบ้านพรุหลุมพี     ได้มีชายหย่อ       โต๊ะจูหมูด โต๊ะเหงาะแอ   ได้เป็นผู้เริ่มเข้ามาบุกเบิกตั้งหมู่บ้าน นอกจากคนเหล่านี้ยังมีชาวจะนะที่อพยพมาอยู่สมทบอีกจำนวนหนึ่ง มีผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ นายหมัด ติเอียดย่อ มีพื้นที่ประมาณ ๖,๙๕๔ ไร่
                   หมู่ที่ ๕ บ้านท่าแมงลัก
                   ประชาชนอพยพมาจากพัทลุง เข้ามาอยู่ประมาณ ๑๐ หลังคาเรือน คือ นายคง แดงทองเกลี้ยง นายดำ แดงทองเกลี้ยง นายปลอด เพ็ญสุข นายสีทอง แดงทองเกลี้ยง นายอินแก้ว แดงทองเกลี้ยง เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๔ ซึ่งในอดีตท่าแมงลักเป็นเมืองท่าที่สำคัญ มีการขนส่งสินค้าโดยทางรถไฟ เช่น ดีบุก บางส่วนใช้ลากเกวียนกับควาย มีโกดังเก็บสินค้า มีท่าเรือห่างจากสถานีรถไฟประมาณ ๔๐๐ เมตร
                   เมื่อเป็นเมืองท่ามีการขนส่งสินค้า ชาวปากบางซึ่งมากับเรือนำปลามาขาย มีแมวดำตัวหนึ่งมีนิสัยชอบลักขโมย ได้ขโมยปลาบนเรือที่จอดเทียบท่าไว้ ประชาชนก็เลยเรียกว่า “ท่าแมวลัก” ซึ่งหมายถึง แมวที่ชอบลักขโมยปลาของชาวบ้านและต่อมาเพี้ยนมาเป็น “ท่าแมงลัก” ในปัจจุบัน มีพื้นที่ประมาณ ๑๔,๘๖๘ ไร่
                   หมู่ที่ ๖ บ้านแซะ
                   “แซะ” เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งพบในภาคใต้ของประเทศไทย เป็นไม้เนื้ออ่อนนิยมนำยอดมาเป็นผักรับประทานกับขนมจีน ข้าวยำ เดิมบริเวณที่ตั้งหมู่บ้าน “บ้านแซะ” มีบ่อน้ำอยู่บ่อหนึ่งประชาชนที่เดินทางสัญจรไป – มา ใช้ดื่มกิน บริเวณใกล้ๆ บ่อมีต้นแซะขนาดใหญ่ให้ร่มเงาสร้างความร่วมรื่นให้กับผู้ที่มาแวะพัก ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “บ่อต้นแซะ” และใช้ชื่อนี้เรียกรวมไปถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณนั้นด้วย แต่ด้วยความที่คนท้องถิ่นภาคใต้ชอบพูดสั้นๆ คำว่า “บ่อต้นแซะ” จึงค่อยๆ เพี้ยนเหลือเพียงชื่อ “บ้านแซะ” ผู้ที่มาตั้งรกรากในพื้นที่ คือ พ่อทวดไชย สีหมัด มีพื้นที่ประมาณ ๑๐,๓๔๑ ไร่
 
                   หมู่ที่ ๗ บ้านพรุโต๊ะคอน
                   บ้านพรุโต๊ะคอน เดิมเป็นส่วนหนึ่งของบ้านท่าแมงลัก หมู่ที่ ๕ และแยกออกมาเมื่อปี ๒๕๓๒ เนื่องจากเป็นกลุ่มบ้านที่ห่างไกลชุมชน พื้นที่บ้านพรุโต๊ะคอนบางส่วนมีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าลุ่ม ที่ชาวบ้านเรียกว่าป่าพรุ ประกอบกับอยู่ใกล้กับพื้นที่พรุขนาดใหญ่ของตำบลเกาะสะบ้า ประวัติเล่าต่อๆ กันมาว่า มีชายคนหนึ่งชื่อ คอน เป็นผู้บุกเบิกเข้ามาอาศัยในพื้นที่นี้ คนทั่วไปเรียกว่า “โต๊ะคอน” ตามคำนำหน้าของชาวมุสลิม ต่อมามีชาวบ้านจากตำบลเกาะสะบ้า เข้ามาตั้งรกรากยึดทำมาหากินมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นหมู่บ้านและเรียกว่า “บ้านพรุโต๊ะคอน” หรือ “บ้านพรุตูคอน” มีพื้นที่ประมาณ ๗,๘๑๔ ไร่
                   หมู่ที่ ๘ บ้านเขาน้อย
                   บ้านเขาน้อยได้แยกหมู่บ้านจากบ้านพรุหลุมพี หมู่ที่ ๔ ตำบลสะกอม เมื่อปี ๒๕๓๙ ชุมชนแถบนี้แรกเรียกว่า “บ้านพังกา” ซึ่งเป็นเมืองเก่าที่เล่าต่อกันมาว่าได้มีการเก็บสมบัติต่างๆ ไว้ในภูเขาเล็กๆ แถบนี้มากมาย ต่อมาประชาชนจากตำบลนาทับ ตำบลจะโหนง ตำบลเกาะแต้ว มีการอพยพเข้ามาอยู่ในบริเวณนี้ โดยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บูเก๊ะ กะจิ” เป็นภาษายาวี แปลเป็นภาษาไทยว่า “เขาน้อย” บ้านเขาน้อยมีพื้นที่ประมาณ ๓,๔๔๐ ไร่
 
ประวัติเจดีย์หัวเขาล้อน
                   "หัวเขาร้อน" ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ ต.สะกอม บริเวณบ้านปากบางสะกอม บ้างก็เรียก "หัวเขาล้อน" ซึ่งจะมาจากคำว่า ล้อน หรือ โล้น มากกว่า ร้อนเพราะบนเขามีต้นไม้เล็กๆ อยู่เป็นหย่อมเท่านั้นไม่มีไม้ใหญ่พอที่จะกำบังลมได้ลมจะพัดแรงตลอดเวลาแต่บางคนก็ให้เหตุผลที่ให้ชื่อว่า เขาร้อน นั้นเพราะกว่าจะเดินทางไปถึงนั้นต้องใช้เวลานานเดินจนเข่าอ่อน (ชาวบ้านเรียกว่า หัวเข่าร้อน เพราะเดินจนเมื่อย) เจดีย์อยู่ตรงกันข้ามกับเกาะขาม องค์พระเจดีย์สูงประมาณ ๖ เมตร ลักษณะเหมือนกับเจดีย์ควนเจดีย์ ลักษณะเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างประมาณ ๔ เมตรบันไดขึ้นหันหน้าไปทางทะเลจะสังเกตเห็นบันได ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นทางเดินแต่โดนคลื่นสาดพังไปหมดแล้ว เหลือแต่หน้าผาชันให้เราเห็นร่องรอยอยู่นั้น องค์เจดีย์เคยได้รับการบูรณะแล้วประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๘๑ – ๒๔๘๔ โดยพระจากสะกอม ปัจจุบันองค์พระเจดีย์ชำรุดทรุดโทรมและยอดเจดีย์ถูกฟ้าผ่าหักไป
 
 
๒.๓ สภาพทั่วไป
          ๒.๓.๑ ขนาดและที่ตั้ง
         ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลสะกอม ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๔ หมู่ที่ ๒ บ้านสวรรค์   ตำบลสะกอม  อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีจำนวน 8 หมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ ๑๒๒ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗๖,๒๕๐ ไร่และมีอาณาเขตติดต่อ  ดังนี้
                    ทิศเหนือ          ติดต่อกับ         ทะเลอ่าวไทย
                    ทิศใต้             ติดต่อกับ         ตำบลสะพานไม้แก่น อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
                    ทิศตะวันออก     ติดต่อกับ         ตำบลเกาะสะบ้า อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา
                   ทิศตะวันตก      ติดต่อกับ         ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ภาพประกอบ ๒ - ๑ แผนที่แสดงอาณาเขตตำบลสะกอม
 
 
 
 
 
 
 
 
 
  
 
 
 
 
        


เข้าชม : 4842
 
 
ศูนย์การเรียนรู้ตำบลสะกอม
 ม.5  บ้านท่าแมงลัก ต.สะกอม อ.เทพา  จ.สงขลา  90110  โทรศัพท์ 0 95 579 8945

supi_sara555@hotmail.com , facebook : Kai supisara
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05